WWF ประเทศไทย เดินหน้าขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน
WWF ประเทศไทย ได้สนับสนุนการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรกรรมยั่งยืนผ่านการรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee Systems: PGS) ร่วมกับเครือข่ายวิสาหากิจชุมชนเกษตรอินทรีย์น่าน ระหว่างวันที่ในระหว่างวันที่ 29 เม.ษ. – 3 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา รวมทั้งหมด 14 ครั้ง ครอบคลุม 20 อำเภอ รวม 200 แปลงเกษตรทั่ว จ.น่าน (พื้นที่ประมาณ 800 ไร่) และมีผู้เข้าร่วมอบรมจาก 31 ชุมชน (จำนวนเกษตรกรรายย่อย 1,376 คน) ภายใต้การสร้างพื้นฐานความไว้วางใจซึ่งกันและกัน สานเป็นเครือข่ายทางสังคมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การรับรองที่ชุมชนหรือเกษตรกรในกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นมีส่วนร่วมกำหนดกฎเกณฑ์ ตรวจสอบแปลงเกษตรอินทรีย์ระหว่างกัน
ทั้งนี้ การประชุมเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2561 จัดขึ้นที่ ต.บัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน นั้น เป็นการประชุมภายหลังจากการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ สิ้นสุดลง มีเกษตรกรรายย่อยประมาณ 50 ราย เข้าร่วมสรุปและถอดบทเรียนจากกิจกรรมการอบรม ซึ่งต่อจากนี้ โครงการฯ มีแผนที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์และเกษตรอัจฉริยะมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ โดยจะพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability monitoring platform) สำหรับสินค้าเกษตรเพื่อเชื่อมเกษตรกรและผู้บริโภคเข้าด้วยกัน และจัดทำแผนการดำเนินงานร่วมกันในการส่งเสริมการทำเกษตรยั่งยืน รวมถึงพัฒนาแปลงเกษตรอินทรีย์เพื่อสร้างการเข้าถึงอาหารปลอดภัยในโรงเรียนของชุมชนอีกด้วย
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 61 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ยังร่วมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองเกี่ยวกับสภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตร รวมถึงร่วมกันวิเคราะห์แนวทางในการจัดการปัญหาต่าง ๆ ที่เกษตรกรเผชิญในพื้นที่ในประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งข้อมูลจากการจัดประชุมในครั้งนี้ จะเป็นแนวทางสำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายภาคการเกษตรในอนาคตต่อไป
กิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างอาหารยั่งยืน ฟื้นคืนป่าน่าน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง WWF ประเทศไทย เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์น่าน บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด (Central Group) และบริษัท เซ็นทรัลฟู้ด รีเทล จำกัด
ภายใต้โครงการเสริมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำผ่านการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน WWF ประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของ International Climate Initiative (IKI) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติ การก่อสร้างและความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ (German Federal Ministry for the Environment, Nature Conservation and Nuclear Safety: BMU) ของรัฐบาลเยอรมัน
