What would you like to search for?

กิจกรรมการดำเนินงาน โครงการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าและอาหารยั่งยืน FLR349 สิงหาคม 2563 - สิงหาคม 2564 จังหวัดเชียงใหม่

01 October 2021

 การดำเนินงาน โครงการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าและอาหารยั่งยืน FLR349

โครงการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าและอาหารยั่งยืน FLR349 ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธินวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ไทย (TOF ) เกษตรกรในพื้นที่ตำบลกองแขก อำเภอแม่แจ่ม และเกษตรกรในอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย ( WWF-Thailand) ดำเนินการขับเคลื่อนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืนเชิงพื้นที่เพื่อสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารและปกป้องพื้นที่ป่าต้นน้ำ โดยการสร้างความเข็มแข็งให้กับเกษตรในด้านการผลิต การวางแผนตลาด การจัดการห่วงโซ่อุปทาน นำระบบติดตามการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อการติดตามกิจกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ และการฟื้นฟูป่าและการสร้างระบบอาหารท้องถิ่น (Local Food) ยกระดับผลผลิตทางการเกษตรให้ได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่าของพืชผลทางเกษตรเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาความยั่งยืนของพื้นที่ โดยโครงการได้ดำเนินงานสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร ในการผลิตพืชอินทรีย์ จัดการห่วงโซ่อุปทาน พร้อมทั้งดำเนินการโครงการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าและอาหารยั่งยืน FLR 349 ในพื้นที่ที่ผ่านการบุกรุกทำเกษตรเชิงเดี่ยวและอยู่ในชั้นลุ่มน้ำ 1-2 ตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ร่วมกับเกษตรในหมู่บ้านเป้าหมาย บ้านกองแขกเหนือ บ้านอมเม็ง ตำบลกองแขก อำเภอแม่แจ่ม โดยได้ปลูกป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง จากการสนับสนุนงบประมาณโดยบริษัท อโกดา เซอร์วิสเซส จำกัด จำนวน 60 ไร่ ระยะที่ 1 โดยแบ่งเป็นพื้นที่แปลงปลูกป่า จำนวน 37.5 ไร่ และพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ จำนวน 22.5 ไร่ ระยะที่ 2 จำนวน 14  ไร่ 12 ครัวเรือน  และธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด (HSBC) จำนวน 142 ไร่ 37 ครัวเรือน พร้อมการสนับสนุนการสร้างโรงเรือน smart farm จำนวน 2 โรงเรือน จากการสนับสนุนงบประมาณโดยบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด (Central Group) เพื่อการจัดการและพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์และป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกร และกิจกรรมดูแลรักษา ติดตามประเมินผล และวางแผนการผลิต พื้นที่ปลูกป่าและพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในพื้นที่นิคมสหกรณ์แม่แจ่ม ตำบลกองแขก อำเภอแม่แจ่ม จำนวน 16 ครัวเรือน พื้นที่จำนวน 115 ไร่ และ พื้นที่ปลูกป่าและพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในพื้นที่บ้านแม่ขี้มูก หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านทับ อำเภอแม่แจ่ม จำนวน 9 ครัวเรือน พื้นที่ 98 ไร่ พร้อมทั้งได้ดำเนินการการจัดตั้งบริษัท เอฟแอลอาร์ สามสี่เก้า วิสาหกิจเพื่อสังคม (FLR349 SE) เพื่อการจัดการเรื่องตลาดและห่วงโซ่อุปทานจากผลผลิตที่เกิดขึ้นจากโครงการ เพื่อเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค และในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 กองทุน FLR349 จัดกิจกรรม ฮักกั๋นปั๋นกันกิน (Food Sharing for Love) แก่ผู้ประสบปัญหาในสถานการณ์การแพร่ระบาดทั้งการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่ดำเนินงานของโครงการ และการแจกจ่ายผลผลิตจากเกษตรให้กับผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรประชาสัมพันธ์โครงการไปในตัว
 
ผลการดำเนินงานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2563- 2564
 
14 สิงหาคม 2563 กองทุนฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าและอาหารยั่งยืน FLR349 จัดกิจกรรม FLR349 ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ณ โรงเรียนอุตสาหกรรมป่าไม้ที่ 13 บ้านโหล่งปง ตำบลกองแขก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีกิจกรรมปลูกป่าร่วมกับบริษัท อโกดา เซอร์วิสเซส จำกัด มีพนักงาน นักเรียน เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ นิคมสหกรณ์แม่แจ่ม องค์การบริหารส่วนตำบลกองแขก และหน่วยงานในพื้นที่ จำนวนผู้เข้าร่วมกว่า 80 คน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ทางโครงการ FLR349 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท อโกดา เซอร์วิสเซส จำกัด โดยมีพื้นที่ จำนวน 60 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่แปลงปลูกป่า จำนวน 37.5 ไร่ และพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ จำนวน 22.5 ไร่ กล้าไม้กว่า 6,000 กล้า และเกษตรกรที่เข้าร่วมจำนวน 10 ครัวเรือน
 

กิจกรรม FLR349 ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง จากการสนับสนุนโดยบริษัท อโกดา เซอร์วิสเซส จำกัด
 
กันยายน - ตุลาคม 2563 กองทุน FLR349 ตรวจติดตามประเมินผล การเจริญเติบโต อัตรารอดตาย พื้นที่แปลงปลูกป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่บ้านโหล่งปง ตำบลกองแขก และการจัดการผลผลิตของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพื้นที่บ้านแม่ขี้มูกโดยมีวัตถุประสงค์ในการขยายกลุ่มเครือข่ายเกษตรกร การวางแผน  การจัดการเกษตรอินทรีย์  การจัดการสร้างอาหารปลอดภัยสู่ท้องถิ่น และแผนการผลิตเพื่อการขายผลผลิต เชียงใหม่ Local Food การติดตามและประเมินผล  เพื่อลดการทำเกษตรเชิงเดี่ยวสู่การทำการเกษตรอินทรีย์ การเตรียมพื้นที่การปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ทดแทนการทำเกษตรเชิงเดี่ยว