What would you like to search for?

เลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ สร้างทักษะ สร้างโอกาส สร้างรายได้ มุ่งสู่การฟื้นฟูป่า

19 January 2023

ณ ปัจจุบัน การแผวถางป่าธรรมชาติยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ตกในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ แม้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการแจกกล้าไม้ป่าหรือไม้เศรษฐกิจก็ไม่สามารถหยุดยังปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าลงได้ เนื่องจากต้นตอของปัญหาที่แท้จริง คือ ความยากจนและทางเลือกในการประกอบอาชีพ ทำให้เกษตรกรจำต้องเลือกปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีการกำหนดราคารับซื้อที่ชัดเจนและแน่นอน แม้ว่าราคารับซื้อต่อไร่จะต่ำและต้องแบกรับต้นทุนการผลิตเอง ไม่ว่าจะเป็นค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี ไปจนถึงสารเคมีกำจัดศัตรูพืช การส่งเสริมทักษะและสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรจึงถือเป็นหัวใจสำคัญในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติแบบองค์รวม
 
การเลี้ยงไก่ไข่ในระบบเกษตรธรรมชาติก็เป็นการส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกรในอีกช่องทางหนึ่งแทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะมีตลาดรอรับซื้อไข่ไก่ที่ชัดเจนและให้ราคาสูงกว่าท้องตลาด อีกทั้งมีการนำหยวกกล้วยในพื้นที่โครงการ FLR349 มาทำเป็นอาหารไก่ ทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำลง โครงการ FLR349 จึงเชิญชวนให้เกษตรกรสมาชิกโครงการมาสมัครเข้าร่วมอบรมการเลี้ยงไก่ไข่ในวันที่ 25 ธันวาคม 2565 ณ บ้านอมเม็ง ต.กองแขก อ.แม่แจ่ม โดยให้พ่อจำนง อินทรัตน์ เกษตรกรสมาชิกโครงการ FLR349 ที่มีความโด่ดเด่นในด้านการเลี้ยงไก่ไข่เป็นผู้อบรม
 

 

 
การอบรมดำเนินไปอย่างราบรื่นและเป็นกันเอง โดยเริ่มจากการแนะนำให้สมาชิกปลูกหญ้าเนเปียร์และกล้วย ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกง่าย ไม่ต้องใช้เวลาในการดูแลมาก และเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่จะนำมาหมักเป็นอาหารเลี้ยงไก่ จากนั้นก็นำหยวกกล้วยและหญ้าเนเปียร์ในปริมาณที่เท่ากันมาบดกับเครื่องบดให้ละเอียด ซึ่งเกษตรกรสามารถบดพืชสมุนไพรผสมรวมกับหยวกกล้วยและหญ้าเนเปียร์ในชั้นตอนนี้ได้ จากนั้นก็คลุกผสมให้เข้ากัน และนำไปบรรจุลงในถังหมัก พร้อมเทหัวเชื้อจุลินทรีย์และกากน้ำตาลซึ่งจะเป็นอาหารของจุลินทรีย์ รดน้ำและปิดฝาถังหมักเพื่อไม่ให้อากาศเข้า ทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ก็จะได้อาหารหมักที่พร้อมให้ไก่
 

 

 

หลังจากพักทานอาหารเที่ยง พ่อจำนงก็พาสมาชิกเข้าเยี่ยมชมเทียนชัยฟาร์ม และ ฟาร์มของพ่อจำนงเอง ซึ่ง 2 แห่งล้วนเป็นสมาชิกโครงการ FLR349 เพื่อให้อธิบายหลักการจัดการฟาร์มไก่ที่ถูกสุขลักษณะ อาทิเช่น ให้บุคคลจากภายนอกต้องสวมใส่รองเท้าบูทและล้างเท้าก่อนเข้าไปในพื้นที่เลี้ยงไก่เพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคจากภายนอกเข้าสู่ฟาร์มไก่ การออกแบบโรงเลี้ยงให้มีคานสำหรับให้ไก่ขึ้นไปนอน หรือการปูวัสดุรองพื้นที่ด้วยแกลบดิบซึ่งจะช่วยดูดซับความชื้นจากมูลไก่ บ่มเพาะเชื้อให้ไก่ได้สัมผัสและปรับตัวให้ทนทานต่อโรคภัยที่จะเข้าสู่ตัวไก่ ซึ่งโรงเลี้ยงไก่แบบประหยัดก็สามารถนำไม้ไผ่มาตัดเป็นโรงเลี้ยงไก่ได้
 

 

แม้ว่าการเลี้ยงไก่ไข่จะดูไม่เกี่ยวอะไรกับการปลูกป่ามากนัก แต่การเลี้ยงไก่ไข่ระบบเปิดที่ปล่อยให้ไก่วิ่งเล่นหรือขุดขุ้ยดินรอบๆ โรงเรือนก็ต้องอาศัยร่มเงาของต้นไม้เช่นเดียวกัน หากพื้นที่เลี้ยงไก่เป็นที่เปิดโล่ง ไม่มีร่มเงาของต้นไม้ให้ไก่ได้หลบแดด ความร้อนในตัวไก่ก็จะสูงเกินไปจนเกิดความเครียดและส่งผลให้อัตราการออกไข่ลดลงตามไปด้วย ดังนั้น การเลี้ยงไก่ไข่ระบบเปิดจึงสามารถทำควบคู่กับการปลูกป่าได้ไม่ยาก “ไข่ไก่สร้างป่า” จึงเป็นคำที่ดูจับต้องได้และไม่ไกลเกินความเป็นจริงเท่าไรนักสำหรับการส่งเสริมอาชีพควบคู่ไปกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ
 

 
 
 
Media Contact
Abhinand Aryapratheep
+662-618-4303-05
Donate
Donate