What would you like to search for?

Our News

WWF เตือนลิงลุ่มน้ำโขงใกล้สูญพันธุ์

         รายงานล่าสุดจากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 ที่ใช้ชื่อว่า “อันดับวงวานรในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง: สถานภาพ และปัจจัยคุกคาม กับความพยายามในการอนุรักษ์” “Primates of the Greater Mekong: Status, Threats and Conservation Efforts” ระบุว่า ลิงลม ลิงแสม ค่าง และชะนี ที่มีถิ่นอาศัยใน 5 ประเทศรอยรอบลุ่มน้ำโขง ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และไทย พบความหลากหลายของชนิดพันธุ์ย่อย ที่มีความแตกต่างทั้งด้านพฤติกรรมและถิ่นที่อยู่อาศัย อาทิ ชะนีคิ้วขาว สกายวอล์คเกอร์ (skywalker hoolock gibbon) ที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นสายพันธุ์ใหม่ในปี ค.ศ.2017 และ ค่างโพพาร์ แลงเกอร์ ที่เพิ่งถูกค้นพบในปี ค.ศ.2020 นอกจากนั้นยังพบว่า ในภูมิภาคนี้ มีการกระจายพันธุ์ของไพรเมท หรือวงวานรมากกว่า 44 สายพันธุ์ โดย 19 ชนิดถือเป็นสายพันธุ์เฉพาะถิ่น ซึ่งปรับตัวและอยู่รอดได้ภายใต้สภาพแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตาม สถานภาพในเชิงอนุรักษ์ของวงวานรทั้งหลาย อยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยง

          ปัญหาจากการแผ้วถางพื้นที่ป่า การสูญเสียที่อยู่อาศัยที่มีความอุดมสมบูรณ์ การล่า จากขบวนการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย และการบริโภคสัตว์แปลก คือปัจจัยคุกคามลำดับต้นๆ ที่ส่งผลต่อประชากร และความอุดมสมบูรณ์ของวงวานร หรือไพรเมท ที่อาศัยอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ โดยในปัจจุบัน 1 ใน 4 ของสายพันธุ์ทั้งหมดได้ถูกจัดให้อยู่ในบัญชีสัตว์ประเภทที่กำลังตกอยู่ในอันตรายใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง  จากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ในขณะที่อีกกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์  นอกจากนั้น การประเมินความเสี่ยงของสถานภาพครั้งหลังสุด ยังแสดงให้เห็นถึง ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของประชากรวงวานรอีก 1 ใน 4 ที่อาจจะเข้าสู่สภาวะสูญพันธุ์

          “เรากำลังเสี่ยงที่จะเห็นลิงหลายสายพันธุ์สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติในภูมิภาคนี้ หากเราไม่รีบมองหาวิธีในการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยของมัน” เค. โยกานันด์ หัวหน้าฝ่ายงานอนุรักษ์สัตว์ป่าประจำองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง กล่าว “วานรหลายสายพันธุ์มีถิ่นกำเนิดและเติบโตเฉพาะในลุ่ม น้ำโขง บางพันธุ์ก็อยู่แต่เฉพาะในบางประเทศ หรืออาศัยเพียงในบางพื้นที่ที่มีอาณาเขตจำกัดมากๆ ซึ่งนั่นก็ทำให้พวกมันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและยิ่งเปราะบางต่อปัจจัยคุกคามที่เกิดจากมนุษย์”

          วงวานร หรือไพรเมทที่อาศัยในภูมิภาคนี้ ไม่เพียงแต่กำลังสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยในอัตราเร่งเครื่อง แต่พวกมันกำลังถูกคุกคามจากการล่า และการค้าสัตว์ป่าที่ทั้งผืดและไม่ผิดกฎหมาย

          เนื้อของพวกมันถูกนำไปเป็นอาหาร ในขณะที่ชิ้นส่วนอวัยวะบางอย่าง ถูกนำเข้าสู่ขบวนการผลิตยาตามความเชื่อโบราณ ขณะเดียวกัน  ไพรเมทที่ยังมีชีวิตก็เป็นที่ต้องการของตลาดสัตว์เลี้ยงสัตว์แปลก หรือเป็นสัตว์ที่ถูกใช้เพื่อตอบสนองความบันเทิงของนักท่องเที่ยวในสวนสัตว์ นอกจากนั้น จำนวนตัวเลขของสายพันธุ์ลิงที่อยู่ในขบวนการค้าสัตว์ผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่ไปรวมกันอยู่ที่การนำไปทดลองในเชิงวิทยาศาสตร์และวงการยา ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น จากการที่กฎหมายในบางประเทศเปิดโอกาสให้การค้าลิงสามารถทำได้ ทั้งนี้ มูลค่าที่เคยประเมินไว้ในปี ค.ศ.2015 อยู่ที่กว่า 138 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

          ข้อมูลยังระบุอีกว่าสัตว์ตระกูลวานรทั้งในเอเชีย และแอฟริกากำลังเผชิญหน้ากับความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดเชื้อโควิด19 สู่มนุษย์ ทั้งนี้ การแพร่กระจายเชื้อโรคจากสัตว์สู่มนุษย์นั้น สามารถเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสระหว่างสัตว์ป่า และคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านรูปแบบของการค้า และเชื้อโรคก็สามารถส่งกลับมายังสัตว์ได้เช่นกัน โดยมีรายงานการติดเชื้อ SARS-CoV-2  ในลิงวอก และลิงแสมหางยาวในห้องทดลอง และพัฒนาไปสู่อาการคล้ายการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าในมนุษย์

          อย่างไรก็ตาม องค์กรอนุรักษ์ รวมไปถึงองค์กรภาครัฐ และชุมชนท้องถิ่น ได้พยายามที่จะปกป้องสัตว์วงวานรเหล่านี้ไม่ให้สูญหายไป WWF ได้ทำการสำรวจพื้นที่อนุรักษ์เพื่อติดตามประชากรของวานรเหล่านี้ อาทิ ชะนีมือขาว ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำปุย ในประเทศลาว และที่ Ha Tinh ในเวียดนาม และในเมียนมาร์ WWF ได้ทำงานร่วมกับองค์กรอนุรักษ์ และชุมชนโดยมีการติดตั้งแนวสายไฟฟ้าใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้ชะนีถูกไฟฟ้าดูด

          “ประชากรของวงวานรหรือไพรเมทในภูมิภาคนี้ยังคงเดิมหรือเพิ่มขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือและการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย และตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าเราจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร” ผู้บริหารจาก WWF กล่าว

ท่านสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่: : https://bit.ly/3qU4rz3
© WWF_GM
Report Primate of Greater Mekong