What would you like to search for?

Our News

กับดักมรณะ ลมหายใจสุดท้ายของเสือโคร่งแผ่นดินลาว

“สายไปเสียแล้วที่จะนำลมหายใจของเสือโคร่งกลับมาสู่แผ่นดินลาว”

เสือโคร่งที่อาศัยในธรรมชาติตัวสุดท้ายของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวจากไปอย่างแสนทรมาน ข้อมูลของ Global Conservation and Ecology เผยว่าเจ้าป่าตัวสุดท้ายหายไปจากเขตพื้นที่คุ้มครอง Nam Et-Phou Louey เมื่อปี 2013 และหลังจากนั้นก็ไม่มีใครเห็นมันอีกเลย เจ้าหน้าที่ระบุว่า ประชากรเสือโคร่งที่ลดลงเรื่อย ๆ นั้น เกิดจากการล่าเมื่อหลายสิบปีก่อน และสาเหตุอันดับต้น ๆ คือกับดักที่เหล่านักล่าวางไว้ในป่า แม้ทางเจ้าหน้าที่จะมีการเดินลาดตระเวนในหลายพื้นที่ แต่ก็ไม่สามารถรื้อถอน หรือป้องกันกับดักได้สมบูรณ์ 100%

ในปี 2003 และ 2004 ได้มีการระบุว่าพบเสือโคร่งอย่างน้อย 7 ตัว ในพื้นที่ Nam Et-Phou Louey อย่างไรก็ตาม หลังจากปี 2013 ก็ไม่มีกล้องดักจับภาพอัตโนมัติกล้องไหนสามารถจับภาพเสือโคร่งได้อีกเลย “ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นถึงสถิติของประชากรเสือโคร่งที่ลดลงมากอย่างน่าตกใจในเวลาเพียง 10 ปีของพื้นที่ Nam-Et Phou Louey” Akchousanh Rasphone นักเขียนบทความวิชาการของ Global Conservation and Ecology กล่าว

“เราได้ศึกษาปัจจัยที่ทำให้ประชากรเสือโคร่งลดลงอย่างผิดปกติ เช่น เหยื่ออาจลดลง แต่หลังจากค้นคว้าข้อมูลทั้งหมด เราก็พบว่าปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการลดลงของเสือโคร่งคือ การเพิ่มขึ้นของกับดักที่ติดอยู่ในป่า”


ปัจจุบัน กับดักนับล้านชิ้นได้ติดตั้งอยู่ทั่วผืนป่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงพื้นที่เขตอนุรักษ์ โดยกับดักเหล่านี้จะพันธนาการสัตว์ป่าไม่ให้ขยับไปไหน ด้วยบาดแผลที่แสนทรมาน และการขาดน้ำ ทำให้เหล่าสัตว์ป่าที่ติดกับหมดลมหายใจไปในที่สุด

“น้อยเกินไป และสายเกินไป” Troy Hansel อดีตผู้อำนวยการของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าประเทศลาว (WCS) ได้กล่าวถึงรายได้ที่นำมาสนับสนุนงานอนุรักษ์ว่า “รายได้ที่เข้ามานั้นน้อยเกินไป และสายเกินไปสำหรับการต่อลมหายใจของเสือโคร่ง”


จำนวนเงินที่เข้ามาสนับสนุนการอนุรักษ์นั้น จะถูกแบ่งและกระจายสู่หลายพื้นที่อนุรักษ์ที่กว้างเกือบเท่าครึ่งหนึ่งของประเทศจาเมกา (Jamaica) โดย Rasphone ได้เผยว่า เงินสนับสนุนที่เข้ามานั้น อาจมากพอที่จะหยุดการล่า โดยเห็นได้จากสถิติการยึดอาวุธปืนที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังแก้ไขไม่ได้คือ อัตราการเพิ่มขึ้นของการวางกับดักในพื้นที่ป่า

“เป็นเรื่องยากมากที่จะป้องกันกับดักได้ทั้งหมด เพราะว่ากับดักแต่ละอันทำได้ง่าย และราคาถูกมาก คนเพียงคนเดียวสามารถวางกับดักได้หลายร้อยหลายพันชิ้นเลยทีเดียว” Akchousanh Rasphone นักเขียนบทความวิชาการของ Global Conservation and Ecology กล่าว อย่างไรก็ตาม ความหวังยังไม่หมดไปจากผืนป่าลาวเสียทีเดียว Hasan Rahman ผู้เชี่ยวชาญด้านเสือโคร่งของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศบังกลาเทศ ได้ชี้ให้เห็นถึงทางออกของปัญหาดังกล่าว โดยกุญแจสำคัญคือ “ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน”

“ไม่ว่าจะเป็นเงินสนับสนุนที่มากเพียงใด เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนที่ครอบคลุมพื้นที่เท่าไหร่ หรือกฎหมายที่รัดกุมเพียงใด แต่หากขาดแรงสนับสนุนจากชุมชน และทุกภาคส่วน เราก็ไม่สามารถรักษาสัตว์ป่าสายพันธุ์ใดได้อย่างยั่งยืน เราไม่ต้องการเพียงแค่ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง แต่เราต้องการแรงสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทุกภูมิภาค ไปจนถึงผู้คนทั่วโลกที่จะปกป้องสัตว์ป่าซึ่งเป็นเพื่อนร่วมโลกของเรา”  

แม้ว่าเสือโคร่งจะห่างหายจากกล้องดักจับอัตโนมัติมานานนับปี อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายพื้นที่อนุรักษ์ในประเทศลาวที่มีความร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากชุมชน และหลายภาคส่วน เช่นเดียวกับพื้นที่เขตอนุรักษ์ Nam-Et Phou Louey


เช่นนั้นเอง ด้วยความร่วมมืออย่างสุดกำลังของเจ้าหน้าที่ และทุกภาคส่วน เราจึงยังมีความหวังที่จะเห็นเหล่าเสือโคร่ง และเสือดาว กลับมาอาศัยอยู่ในแผ่นดินลาว และมีรูปในเราเห็นได้ในกล้องดักจับต่อไปในอนาคต

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://news.mongabay.com/2019/10/how-laos-lost-its-tigers/

© WWF-TH
WWF

 

สนับสนุน
สนับสนุน