The WWF is run at a local level by the following offices...
- WWF Global
- Adria
- Argentina
- Armenia
- AsiaPacific
- Australia
- Austria
- Azerbaijan
- Belgium
- Bhutan
- Bolivia
- Borneo
- Brazil
- Bulgaria
- Cambodia
- Cameroon
- Canada
- Caucasus
- Central African Republic
- Central America
- Chile
- China
- Colombia
- Croatia
- Democratic Republic of the Congo
- Denmark
- Ecuador
- European Policy Office
- Finland
วันที่ "เขา" เดินเข้าป่า
“พี่ชอบเข้าป่า”
พี่ป้อ - นเรศณ์ เสือทุเรียน ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี WWF-ประเทศไทยบอกพวกเราแบบนั้น ก่อนจะเล่าจุดเริ่มต้นของความรักป่าของเขาให้เราได้ฟังว่ามันเริ่มจากการที่เขาเลือกเรียนด้านการพัฒนาชุมชน และตั้งใจว่าจะต้องจบไปทำงานที่เกี่ยวกับสัตว์ป่า นั่นทำเขาตัดสินใจเดินเข้าผืนป่าแรก ในทุ่งใหญ่นเรศวร “นั่นคือครั้งแรกที่เจอพี่ร็อบ (ดร.โรเบิร์ต สไตน์เมทซ์ นักชีววิทยาแห่ง WWF) แรก ๆ พี่ไม่ค่อยชอบงานวิจัยเลยนะครับ แต่ก็ตามพี่ร็อบไป ช่วงแรก ๆ ก็สงสัยว่าทำไมพี่ร็อบเดินช้า แต่มันเป็นเพราะว่าแกคอยดูขี้สัตว์อยู่” พี่ป้อเล่าให้ฟังพร้อมรอยยิ้มที่พาเราย้อนกลับไปเมื่อ 23 ปีก่อน ในสมัยที่เขายังเป็นนายนเรศณ์ เสือทุเรียน นักศึกษาจบใหม่คนนั้น
เขาเล่าให้ฟังว่าไม่กี่เดือนหลังจากเข้าป่าเป็นครั้งแรกตอนอายุ 23 เขาก็ได้ป่วยเป็นโรคมาลาเรีย และต้องขึ้นหลังช้างเพื่อเดินทางจากหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่เข้าไปทำงาน ลงไปยังบริเวณที่สามารถนั่งรถเพื่อไปโรงพยาบาลได้ แต่นั่นก็ไม่ทำให้พี่ป้อรู้สึกหมดรักกับป่าแต่อย่างใด เพราะเขายังรักผืนป่าอยู่เสมอ และอาจเรียกได้ว่ามันเป็นความรักที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว
ในอดีต พี่ป้อบอกว่าเขาไม่เคยรู้ว่าใบไม้ที่เดินผ่านเป็นใบไม้ของต้นไม้ที่เรียกว่าอะไร แต่เมื่อเวลาผ่านไป พี่ป้อก็ได้ศึกษาและเรียนรู้ พร้อมกับทำความรู้จักวงศ์ของต้นไม้แต่ละต้น กระทั่งรู้ตัวอีกที เขาก็บอกเราว่า มันเริ่มต้นกลายเป็นความรักโดยที่เขาไม่รู้ตัวเสียแล้ว
“ความรักของพี่ที่มีให้ป่า มันเกิดขึ้นมาเอง กลายเป็นว่าพี่รักในงาน สนุกและมีความสุขกับงานอยู่จนถึงตอนนี้ จนตอนนี้ก็ยังตื่นเต้นกับงานอยู่ เพราะใจเรารักมัน”
ปัจจุบันโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรีเกิดขึ้นจากความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน องค์กร และรัฐบาล โดยได้หลอมรวมความพยายามให้เกิดการอนุรักษ์สัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยเฉพาะช้างป่า ที่ในอดีตเคยมีข้อขัดแย้งกับมนุษย์ในด้านที่อยู่อาศัย
มนุษย์ต้องทำการเกษตรเพื่อดำรงชีพ ช้างเองก็ต้องออกหากินเพื่อเอาชีวิตรอดเช่นกัน นั่นก่อให้เกิดความขัดแย้งจากการที่ช้างป่าเข้ามาทำลายพื้นที่เกษตรกรรมของมนุษย์ ส่วนมนุษย์เองก็ไม่ยินดีที่จะเห็นช้างออกมาจากป่า
เราจึงถามพี่ป้อว่า หากต้องการพูดกับช้างสักคำ เขาจะพูดว่าอะไร พี่ป้อตอบว่า “ไปชวนเพื่อนให้มากินข้าวข้างในเถอะ” พร้อมรอยยิ้ม
เขากำลังพูดถึงโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงการอนุรักษ์ช้างป่า ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างหลากหลายภาคส่วน รวมถึงภาคประชาชน นั่นคือเหล่าชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งทำให้บริเวณอุทยานแห่งชาติกุยบุรีกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อให้ชาวบ้านและช้างอยู่ด้วยกันอย่างเข้าใจ และมีการดำเนินโครงการสร้างแหล่งอาหารและแหล่งที่อยู่อาศัยอันสมบูรณ์ให้ช้างภายในอุทยาน เพื่อป้องกันการทำลายแหล่งเกษตรกรรมของชาวบ้าน
สำหรับพี่ป้อแล้ว เขาบอกเราว่าสัตว์ป่าคือสิ่งมีชีวิตที่อาศัยร่วมโลกกับมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่อยู่ภายใต้มนุษย์ นั่นทำให้การทำงานของเขาเต็มไปด้วยความรักและความหวังมาตลอดเวลายี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา และความหวังที่ว่าของเขาไม่ได้ถูกมอบไว้ให้เพียงช้าง แต่ยังมอบให้ทุกสรรพชีวิตในผืนป่า ไม่ว่าจะเป็นเก้ง กระทิง และโดยเฉพาะสัตว์ที่ห่างหายไปจากพื้นที่มานานนับหลายปี นั่นคือเสือโคร่ง
เสือโคร่งหายไปจากผืนป่ากุยบุรีนับตั้งแต่ปี 2555 แต่พี่ป้อเล่าว่าเขาไม่คิดว่ามันหายไปเพราะปัญหาจากเหยื่อ เนื่องจากสัตว์กินพืชในบริเวณนี้มีจำนวนค่อนข้างเยอะกว่าจุดอื่น และเขายังเชื่อว่าเสือในบริเวณนี้ไม่ได้ตายไปทั้งหมด แต่อาจเกิดจากการย้ายถิ่นฐานมากกว่า
“เสือโคร่งไม่ใช่สัตว์ที่จะขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ในช่วงแรกที่เราเข้าไปในพื้นที่กุยบุรี อาจจะเป็นช่วงที่ช้าเกินไปแล้ว.. มันอาจเป็นช่วงสุดท้ายของประชากรแล้ว ดังนั้นในทุก ๆ ปีที่เราอยู่ที่นี่ เราก็หวังว่าสักวันจะเจอ เวลาใครเจอร่องรอยอะไรเกี่ยวกับเสือโคร่ง พอไปดูจริง ๆ แล้วเราก็ดีใจ ที่คิดว่าวันหนึ่งมันจะกลับมา” พี่ป้อกล่าว
นั่นทำให้สำหรับเขา การพบรอยตีนเสือโคร่งเมื่อตอนต้นปี 2562 ถือว่าเป็นข่าวที่น่ายินดีและเปี่ยมไปด้วยความหวัง และเป็นแรงผลักดันให้เขาดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ต่อไปอย่างสุดความสามารถ
เราขอให้เขากล่าวทิ้งท้ายบทสนทนาด้วยการพูดหนึ่งประโยคกับเสือโคร่ง พี่ป้อนิ่งไปสักพัก ก่อนเอ่ยตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความรู้สึกที่เอ่อล้นในใจ “กลับมาอยู่กับเราเถอะ เรามีบ้านให้อยู่ มีความปลอดภัยให้”
เพราะเราเชื่อเสมอ ว่าการดำเนินงานอนุรักษ์เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ หากเราทุกคนร่วมมือกัน เช่นเดียวกับที่เราเชื่อว่าหลาย ๆ หัวใจในตอนนี้กำลังเปี่ยมล้นไปด้วยความรักที่มอบให้กับสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม #WWFThailand จึงขอเป็นกำลังใจให้กับทุกหัวใจแห่งการอนุรักษ์ . . #TogetherPossible