“เมื่อ 8 ปีก่อนคนเขาไม่เอาพืชอื่นมาปลูกกับยางหรอก ใครๆเขาก็บอกว่าพ่อบ้า”
หมัดฉา หนูหมาน หรือที่ทุกคนเรียกว่า บังหมัด ปราชญ์ชาวบ้าน เกษตรกรสวนยาง ชุมชนบ้านห้วยหาด สวนหลวง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ผู้นำแนวคิดวนเกษตรเข้ามาปรับใช้ในการทำสวนยางกล่าว ขณะเล่าให้ฟังถึงการทำสวนยางแบบวนเกษตรของเขา
เมื่อหลายสิบปีก่อนการทำสวนยางแบบสวนผสมยังไม่เป็นที่นิยมนัก ส่วนมากจะเป็นการทำสวนยางเชิงเดี่ยว คือการทำสวนยางที่ปลูกแต่ต้นยางเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในภายหลังด้วยความผันผวนของเศรษฐกิจที่ทำให้ราคาของน้ำยางไม่แน่นอน เกษตรกรสวนยางจึงเริ่มหาวิธีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และรักษาสวนยางที่เป็นเหมือนสมบัติของตนเอาไว้
WWF ได้เริ่มต้นดำเนินการสนับสนุนแนวคิดสวนยางยั่งยืนให้กับเกษตรกรมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 และได้เข้าร่วมทำงานกับชาวเกษตรกรสวนยางในพื้นที่ภาคใต้ และในเดือนพฤศจิกายน 2563 WWF ประเทศไทย ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยการสนับสนุนจาก กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ได้จัดการประกวด SNR Model Contest สวนยางยั่งยืนขึ้น
“จากความผันผวน และความไม่แน่นอนของราคายางในปัจจุบัน อาชีพเกษตรกรสวนยางที่เคยเป็นอาชีพที่มั่นคงทางรายได้สามารถการเลี้ยงปากท้อง กลับกลายเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนอีกต่อไป เกษตรกรสวนยางหลายรายเริ่มหาวิธีการจัดการสวนยางใหม่ๆ ตามภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ของตนเองเพื่อปรับตัว เกิดเป็นวิถีการทำสวนยางที่เรียกว่า “สวนยางยั่งยืน” จึงเกิดแนวคิดในการรวบรวมองค์ความรู้การทำสวนยางยั่งยืนจากเกษตรกรสวนยางที่ประสบความสำเร็จ (โมเดลสวนยางยั่งยืน) และขยายวิธีการเหล่านั้นให้แพร่หลาย โดยเราหวังว่าโมเดลสวนยางยั่งยืนที่รวมรวมมานี้ จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้ที่เพียงพอ มีกินมีใช้” กรพัฒน์ ไชยพร เจ้าหน้าที่โครงการเกษตร-ป่าไม้ยั่งยืน WWF ประเทศไทย กล่าว
การประกวดเพื่อเฟ้นหาต้นแบบสวนยางยั่งยืน มีเป้าหมายสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เป็นการเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชาวสวนยาง ศึกษาทฤษฎีจากปราชญ์ชาวบ้าน ผู้เชี่ยวชาญ และในกลุ่มเกษตรกรด้วยกันเอง อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกษตรกรสวนยางที่อยู่คนละภาคของประเทศไทยได้ทำความรุ้จักกัน อันจะเกิดเป็นเครื่อข่ายสวนยางยั่งยืนในอนาคต โดยคณะกรรมการจัดงานได้แบ่งเกณฑ์การประกวดสวนยางยั่งยืนออกเป็น 5 โมเดล ได้แก่
Happy Farmer
Smart Rubber Farmer
Wealthy Farmer
Self-sufficiency Farmer
Farm-to-Fork Farmer
“อิ่มใจ” หนึ่งในคีย์เวิร์ดที่เกษตรกรคนหนึ่งพูดขึ้น เมื่อมีการตั้งคำถามว่า สวนยางยั่งยืนสำหรับเราคืออะไรในกิจกรรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ “สวนยางเราก็ปลูกมาตั้งนานแล้ว ทำเป็นแล้ว แต่พอเราเห็นว่าต้นไม้อื่นที่เราพยายามจะปลูกมันเริ่มเจริญงอกงาม โตได้ และได้เห็นสมาชิกครอบครัวมารวมตัวร่วมกันทำ นั่นแหละเราเลย อิ่มใจ” พี่เขากล่าว
“สำหรับเราสวนยาง คือแหล่งเรียนรู้และกิจกรรมของครอบครัว”
“พื้นที่ความสุขเล็กๆของคนสูงอายุ”
“คือการสร้างความมั่นคง บนพื้นฐานความเป็นจริง การน้อมรับภูมิปัญญาเก่าๆที่ได้ผลไว้ใช้ และนำสิ่งใหม่ๆอย่างเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ด้วย”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนของชาวเกษตรกรในการประกวด ถึงนิยามของสวนยางยั่งยืนของพวกเขา เพราะสำหรับชาวเกษตรกรสวนยาง นี่ไม่ได้เป็นเพียงอาชีพ แต่สวนยางเป็นเสมือนบ้าน ครอบครัว รากฐานชีวิต เป็นมรดกที่คนรุ่นก่อนตั้งใจส่งต่อให้กับลูกหลานของตน การรักษาสวนยางจึงเป็นเสมือนการส่งต่อวัฒนธรรม และวิถีชีวิตจากรุ่นสู่รุ่น
นอกจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในห้องเรียนแล้ว ยังมีกิจกรรมพาชมสวนยางยั่งยืนต้นแบบ ในวันที่ 2 ของกิจกรรมเราได้พากลุ่มชาวเกษตรกรสวนยางกว่า 50 คน ชมต้นแบบสวนยาง 2 ระบบ คือ ระบบสวนยางพาราร่วมกับการเลี้ยงสัตว์ (Rubber-Livestock Farming System) และ ระบบเกษตรระหว่างสวนยางพารา (Rubber-Intercrop Farming System) เพื่อให้มองเห็นภาพ และฟังเรื่องราวจากผู้ที่ลองทำแล้วได้ผล
“สวนยางยั่งยืนนั้นเป็นไปได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับความถนัด และความชอบของเจ้าของสวนคนนั้นๆ ใครถนัดอะไรก็ทำสิ่งนั้น เพราะสวนยางคือ ความสุข และความรัก เป็นเสมือน ความมั่นคงด้านจิตวิญญาณ ฉะนั้นสวนยางยั่งยืนก็คือการที่เกษตรกรได้มีความสุขในแบบของตนเอง” พ่อคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้านจากบุรีรัมย์ พูดถึงสวนยางยั่งยืนในแบบของตน
“งานในครั้งนี้ก็เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกษตรกรที่ทำเกี่ยวกับยางพาราอย่างยั่งยืนในแบบของตนมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์กัน นอกจากนี้ก็มีตัวแทนจากภาครัฐ ภาคมหาวิทยาลัยที่ได้มาร่วมตัวกันเพื่อช่วยกันพัฒนายางยั่งยืนต่อไป” กรพัฒน์ ไชยพร เจ้าหน้าที่โครงการเกษตร-ป่าไม้ยั่งยืน WWF ประเทศไทย กล่าว
ระหว่างการพาชมสวนยางเราได้เห็นภาพที่เกษตรกรคุยกัน ด้วยรอยยิ้ม ตบบ่า ก่อนจะจากกันก็มีการแลกเบอร์โทรศัพท์ และทิ้งท้ายว่า ไว้ผมโทรหานะครับพี่ ทำให้เรารู้สึกว่าพื้นที่ safe zone ของเกษตรกรชาวสวนยาง และการสร้างเครือข่ายเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เราพยายามสร้างนั้นสำเร็จผล
โมเดลสวนยางยั่งยืน จะทำให้เกษตรกรมีทางเลือก และมีรายได้จากการเกษตรทางเลือกมากยิ่งขึ้น นำไปสู่ความสมดุลทั้งด้านสิ่งแวดล้ม เศรษฐกิจ และสังคม ทำให้เกษตรกรได้ใช้พื้นที่ดินของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ WWF ในโครงการอนุรักษ์ป่าไม้ ที่มองว่า เมื่อเกษตรกรสามารถปรับตัวได้ มีพื้นที่สวนยางของตัวเอง มีระบบการจัดการที่ดี มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โอกาสในการเกิดการรุกพื้นที่ป่าไม้ เพื่อแปรสภาพเป็นพื้นที่การเกษตรก็จะลดลงตามไปด้วยนั่นเอง
#WWFThailand
#TogetherPossible
#SR4SH