โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน

เสือโคร่ง (Panthera tigris) เป็นสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศและยังเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เนื่องจากเสือโคร่งเป็นสัตว์ที่ต้องการใช้พื้นที่อาศัยขนาดใหญ่และมีความต้องการสัตว์ที่เป็นเหยื่อที่หลากหลาย หากเสือโคร่งสามารถอาศัยอยู่ได้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าสัตว์ชนิดต่าง ๆ ก็อาศัยอยู่ได้อย่างปกติเช่นกัน แต่ปัจจุบันประชากรของเสือโคร่งลดลงอย่างน่าเป็นห่วง จนถูกจัดให้อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species) เนื่องจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ การสูญเสียที่อยู่อาศัย การถูกล่า และปริมาณของสัตว์ที่เป็นเหยื่อลดลง

Tiger Infographic

© WWF-Thailand

อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน เป็นผืนป่าที่มีขนาดใหญ่และมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อ เนื่องจากมีพื้นที่รวมกันกว่า 1,200 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของผืนป่าตะวันตก ติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรเสือโคร่งหนาแน่นที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาค อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลานจึงเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ด้วยปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ และการไม่มีชุมชนอาศัยอยู่ภายในพื้นที่อนุรักษ์

จากความสำคัญดังกล่าว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ WWF -ประเทศไทย จึงได้จัดทำ “โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง” ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งภายใต้ข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้อง ร่วมกับการใช้มาตรการป้องกันการกระทำผิดอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งเป้าหมายของโครงการฯ สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการอนุรักษ์เสือโคร่งแห่งชาติ (Thailand Tiger Action Plan 2010 – 2022) ที่ต้องการเพิ่มประชากรเสือโคร่งร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2565 ตามที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ในการประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยการอนุรักษ์เสือโคร่งที่ประเทศรัสเซียเมื่อปี พ.ศ. 2553


วัตถุประสงค์

1. ศึกษาวิจัยและสำรวจประชากรเสือโคร่งและสัตว์ป่าอื่น ๆ
2. เสริมประสิทธิภาพการลาดตระเวนด้วยระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ
3. สร้างจิตสำนึกและเครือข่ายการอนุรักษ์เสือโคร่งและสัตว์ป่า
เสือโคร่งแม่วงศ์

© DNP & WWF-Thailand

ขุนลาน เสือจากกล้องดักถ่ายอัตโนมัติผืนป่าแม่วงก์-คลองลาน หนึ่งในผลงานของโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งของ WWF-ประเทศไทยที่ร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

© DNP & WWF-Thailand

ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

1. การศึกษาวิจัยและสำรวจประชากรเสือโคร่งและสัตว์ป่าอื่น ๆ

     การติดตามประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน มุ่งเน้นศึกษาเกี่ยวกับการกระจาย และพลวัตรด้านประชากรของเสือโคร่ง  เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ในการจัดการพื้นที่เกี่ยวกับเสือโคร่งและสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการดำเนินงานภาคสนามที่สำคัญอยู่ 3 งานหลัก ๆ คือ

1) การสำรวจพื้นที่ครอบครองของเสือโคร่ง (Patch occupancy)
2) การติดตามประชากรเสือโคร่งและเหยื่อด้วยกล้องดักถ่ายภาพ (Monitoring tiger population using camera trap technique)
3) การสำรวจความหนาแน่นของเหยื่อด้วยวิธี distance sampling (Prey density using distance sampling technique)
 
     1) การสำรวจพื้นที่ครอบครองของเสือโคร่ง (Patch occupancy) 
     เป็นวิธีการศึกษาการกระจายและการใช้พื้นที่ของเสือโคร่งและเหยื่อ โดยใช้กริดสำรวจจากการปรากฎ-ไม่ปรากฎของสัตว์ป่า กริดสำรวจในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลานมีจำนวน 9 กริดจากทั้งหมด 97 กริดของผืนป่าตะวันตก โดยทำการสร้างกริด (Grid cell size) ขนาด 256 ตารางกิโลเมตร (16 x 16 กิโลเมตร) (อ้างอิงจากขนาดพื้นที่อาศัยของเสือโคร่งเพศผู้ซึ่งศึกษาโดยสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ) จากนั้นแบ่งกริดเป็น 4 ส่วน จะได้กริดย่อยจำนวน 4 กริดย่อย ขนาด 64 ตารางกิโลเมตร (8 x 8 กิโลเมตร) ทำการเลือก 1 กริดย่อยเพื่อใช้เป็นตัวแทนในการเดินสำรวจการกระจายหรือเดินผ่าน

ในการสำรวจ จะสำรวจและบันทึกข้อมูลการปรากฎของเสือโคร่งและสัตว์ที่เป็นเหยื่อ รวมถึงปัจจัยคุกคามต่าง ๆ เช่น การล่า แคมป์ การตัดไม้ หาของป่า ทุก ๆ ระยะ 1 กิโลเมตรในแต่ละกริด จากนั้นจะนำข้อมูลที่ได้มารวบรวมและวิเคราะห์ เพื่อแสดงผลในรูปของความถี่สัมพัทธ์ การกระจาย และการครอบครองพื้นที่ของเสือโคร่งและสัตว์ที่เป็นเหยื่อของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน

     2) การติดตามประชากรเสือโคร่งด้วยกล้องดักถ่ายภาพ (Camera trap survey)
     เทคนิคการการติดตามประชากรเสือโคร่งโดยใช้กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติเป็นวิธีประเมินประชากรถูกต้องและแม่นยำโดยอาศัยความแตกต่างจากลวดลายของเสือโคร่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวคล้ายกับลายนิ้วมือมนุษย์ กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติที่ใช้ในการสำรวจคือ Bushnell และ Cuddeback โดยในแต่ละรอบการวางกล้องจะกำหนดจุดวางกล้องประมาณ 75 - 90 จุด แต่ละจุดอยู่ห่างกันประมาณ 3-4 กิโลเมตร กระจายครอบคลุมทั่วพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน

     พื้นที่ที่เลือกติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพ จะพิจารณาจากร่องรอยที่ปรากฏของเสือโคร่ง เช่น  รอยตีน รอยคุ้ย กองมูล และรอยพ่นฉี่ บริเวณ ถนน เส้นทางเดินตรวจการณ์ เส้นทางชักลากไม้เก่า หรือด่านสัตว์ โดยติดตั้งกล้อง 2 ตัวต่อหนึ่งจุดสำรวจ เพื่อให้สามารถถ่ายภาพเสือโคร่งได้ทั้งด้านซ้ายและขวา จากนั้นตรวจสอบการทำงานของกล้องและภาพที่ถ่ายได้ทุก 15 วัน และวางกล้องไว้ในป่าเป็นเวลาประมาณ 60 วัน เมื่อครบกำหนดแล้วนำภาพมาจำแนกชนิดสัตว์ บันทึกข้อมูลตำแหน่ง วันที่ เวลา เพศและอายุของสัตว์ที่สามารถถ่ายภาพได้ และจัดทำฐานข้อมูลทั้งเสือโคร่งและสัตว์ป่าในพื้นที่ทั้งสองอุทยานฯ

     โครงการฯทำการสำรวจเสือโคร่งโดยใช้กล้องดักถ่ายภาพแล้วจำนวน 3 ครั้ง (พ.ศ. 2555 2557 และ 2559) พบว่ามีเสือโคร่งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลานมากกว่า 10 ตัว และเป็นที่น่ายินดีว่าในแต่ละปีของการสำรวจ ยังพบการให้ลูกของเสือโคร่งในพื้นที่ ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังได้ไปเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลเสือโคร่งในผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ทำให้เราทราบถึงพลวัตรของเสือโคร่งระดับผืนป่า และทำให้เรายังทราบอีกว่ามีเสือโคร่งที่เกิดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอย่างน้อย 4 ตัว ได้เดินทางมาหากินยังพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ในการรักษาผืนป่าขนาดใหญ่และการป้องกันพื้นที่ที่เข้มแข็ง ทำให้สัตว์ป่าสามารถเดินทางไปมาระหว่างพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย และยังทำให้สามารถเข้าใจสถานการณ์ภาพรวมของเสือโคร่งในพื้นที่ผืนป่าตะวันตกตอนบนได้ดียิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและสัตว์ป่าอื่น ๆ ได้ในอนาคต

     3) การสำรวจความหนาแน่นของสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง ด้วยวิธี distance sampling
     การศึกษาความหนาแน่นของประชากรเหยื่อของเสือโคร่ง เป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้เข้าใจสถานการณ์ของสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูและจัดการประชากรสัตว์ป่าเหล่านี้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม อันจะมีผลโดยตรงต่อการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและสัตว์ผู้ล่าชนิดต่าง ๆ ในที่สุด

     การศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีการสำรวจ และประเมินประชากรที่เรียกว่า Distance sampling เป็นการใช้ระยะทางและโอกาสในการพบเห็นเหยื่อของเสือโคร่ง ได้แก่ กวางป่า กระทิง เก้ง และหมูป่า เป็นสำคัญ โดยวางเส้นสำรวจจำนวน 25 เส้นใน 7 พื้นที่ซึ่งเลือกให้กระจายครอบคลุมทั่วทั้งพื้นที่ เส้นสำรวจแต่ละเส้นมีความยาวประมาณ 1 - 2 กิโลเมตร ทำการเดินสำรวจใน 2 ช่วงเวลาคือ ช่วงเช้าตั้งแต่ 6:00 น. - 10:00 น. และช่วงบ่ายตั้งแต่ 15:00 น. - 18:00 น. บันทึกชนิดของสัตว์ที่พบ จำนวน เพศ มุมสำรวจ มุมของสัตว์ที่เป็นเหยื่อ ระยะทางจากจุดสำรวจถึงจุดที่เหยื่อปรากฏ และชนิดป่า โดยบันทึกเฉพาะสัตว์ที่พบเห็นตัวเท่านั้น จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ความหนาแน่นของประชากรเหยื่อด้วยโปรแกรมเฉพาะทาง

     โครงการฯได้ทำการสำรวจด้วยวิธีดังกล่าวโดยเดินสำรวจด้วยเท้าเป็นระยะทางมากกว่า 80 กิโลเมตร แต่ยังมีปริมาณข้อมูลไม่เพียงพอที่จะนำมาคำนวณทางสถิติได้ จำเป็นต้องมีการสำรวจต่อไป ซึ่งข้อมูลที่ได้จะทำให้เราเข้าใจถึงความหนาแน่นของสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง เพื่อคาดการณ์การปรากฏและพลวัตรของเสือโคร่งในพื้นที่ต่อไป
ความถี่ของการปรากฏเสือโคร่งในแต่ละจุดตั้งกล้องดักถ่ายภาพ

© DNP & WWF-Thailand

ตัวอย่างสัตว์ป่าที่ได้จากกล้องดักถ่ายภาพ

© DNP & WWF-Thailand

ภาพจากกล้องดักถ่ายภาพ

ภาพรอยตีนเสือโคร่ง

การติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพ

2. การเสริมประสิทธิภาพการลาดตระเวนด้วยระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol)

     เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการป้องกันพื้นที่ โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ได้สนับสนุนให้อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลานมีการลาดตระเวนโดยใช้ ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol system) โดยเป็นการลาดตระเวนที่มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถตรวจสอบได้ ข้อมูลที่เจ้าหน้าที่บันทึกไว้ในแต่ละครั้งของการเดินลาดตระเวน เช่น ข้อมูลการพบเห็นสัตว์ป่า การพบปัจจัยคุกคาม ข้อมูลการกระทำผิด จะถูกนำมาจัดระเบียบ วิเคราะห์ และประมวลผล ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ผ่านโปรแกรมเฉพาะทางที่เตรียมไว้ ทำให้สามารถตรวจสอบประสิทธิภาพของการลาดตระเวนผ่านการประมวลผลเชิงพื้นที่ได้สะดวก เป็นรูปธรรม นำไปสู่การวางแผนการปฏิบัติงานลาดตระเวนได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

     ผลการส่งเสริมการปฏิบัติงานลาดตระเวนในช่วงปี พ.ศ. 2554-2558 มีดังนี้
     - ผลการลาดตระเวนของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีการออกลาดตระเวน จำนวน 820 ครั้ง รวม 2,717 วัน 1,690 คืน ระยะทางรวม 14,054 กิโลเมตร คิดเป็นเปอร์เซ็นต์การลาดตระเวนเฉลี่ย 69.93 % ต่อเดือน การลาดตระเวนครอบคลุมประมาณ 56.45 % ของพื้นที่ โดยพบปัจจัยคุกคามประเภท ปางพัก มากที่สุด รองลงมาได้แก่ การพบเห็นคนโดยตรง และการเก็บหาของป่า ตามลำดับ
     - ผลการลาดตระเวนของอุทยานแห่งชาติคลองลาน มีการออกลาดตระเวน จำนวน 669 ครั้ง รวม 1,476 วัน 885 คืน ระยะทางรวม 6,940 กิโลเมตร คิดเป็นเปอร์เซ็นต์การลาดตระเวนเฉลี่ย 60.46 % ต่อเดือน การลาดตระเวนครอบคลุมประมาณ 82.77 % ของพื้นที่ โดยพบปัจจัยคุกคามประเภท ปางพัก มากที่สุด รองลงมาได้แก่ การพบอาวุธหรือเครื่องกระสุน และการเก็บหาของป่า ตามลำดับ
 
     ทั้งนี้ ในการที่ระบบลาดตระเวนจะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนจำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนให้มีความรู้ความชำนาญในการเก็บข้อมูล และการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนทุกคนจะต้องได้รับการฝึกฝนให้มีทักษะความชำนาญในด้านอื่น ๆ ที่จำเป็น เช่น
     - การเสริมสร้างสมรรถภาพทางร่างกาย
     - เทคนิคการลาดตระเวน
     - เทคนิคการตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำผิด
     - เทคนิคการใช้และบำรุงรักษาอาวุธปืน
     - การใช้อุปกรณ์วิทยุสื่อสาร
     - เทคนิคการสืบสวนคดีป่าไม้และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
     - การฝึกปฏิบัติการสืบสภาพพื้นที่เป้าหมาย
     - หลักการสังเกตและระบุรูปพรรณของผู้กระทำผิด
     - การรวบรวมพยานหลักฐานในสถานที่เกิดเหตุ
     - การใช้ GPS และแผนที่
     - การจำแนกชนิดสัตว์ป่าและการสังเกตลักษณะซากสัตว์

     โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง จึงจัดให้มีการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้และฝึกทักษะแก่เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวน ผ่านการอบรม 2 หลักสูตร คือ หลักสูตร “เทคนิคการลาดตระเวนเชิงคุณภาพระดับผู้นำชุดลาดตระเวน” และหลักสูตร “เทคนิคการลาดตระเวนเชิงคุณภาพระดับทบทวนเทคนิคการลาดตระเวน” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้เพิ่มเติมหลักสูตรที่จำเป็นอื่น ๆ อาทิเช่น หลักสูตรการฝึกอบรมการปฐมพยาบาล การตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และการศึกษาดูงานเกี่ยวกับการวิจัยสัตว์ป่า เป็นต้น

     นอกจากสร้างเสริมประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนแล้ว โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งยังสนับสนุนเสบียงอาหารและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน ได้แก่ ชุกลายพราง เป้สนาม เปลมุ้ง ผ้ากันฝน ไฟฉาย ถ่านไฟฉาย รองเท้า เครื่องกรองน้ำ ยารักษาโรค รวมถึงการพัฒนาห้องปฏิบัติการและศูนย์ข้อมูลงานลาดตระเวน ตลอดจนระบบวิทยุสื่อสารที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ในป่า และได้สนับสนุนการก่อสร้างจุดสกัดแม่กระสา เพื่อเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติงานลาดตระเวนบริเวณใจกลางพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศและสัตว์ป่า ตลอดจนจัดให้มีทุนการศึกษาแก่บุตรหลานเจ้าหน้าที่ และจัดทำประกันสุขภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ทุกคน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อีกทางหนึ่งด้วย

การฝึกอบรมเทคนิคการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART PATROL)

Smart Patrol system

© WWF-Thailand

Smart Patrol Training

© WWF Thailand

อุปกรณ์บางส่วนที่มอบให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อสนับสนุนงานลาดตระเวน

© WWF-Thailand

3. สร้างจิตสำนึกและเครือข่ายการอนุรักษ์เสือโคร่งและสัตว์ป่า

     มนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่อยู่ในระบบนิเวศ และพึ่งพิงอาศัยทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิต หากระบบนิเวศมีความสมบูรณ์ก็ย่อมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับมนุษย์  ซึ่งความสำเร็จของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐบาลและเอกชน รวมถึงประชาชนทุกคน การสร้างจิตสำนึกและความเข้าใจถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติให้กับเด็ก ๆ และประชาชนทั่วไป จะนำไปสู่การรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นกุญแจสำคัญในการนำไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าที่ยั่งยืน

การให้ความสำคัญของการสร้างจิตสำนึกที่ดีและการมีส่วนร่วมของนักเรียนและชุมชนใกล้เคียงพื้นที่อนุรักษ์ต่อทรัพยากรล้ำค่าที่มีอยู่ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ หลักสูตรการเรียนการสอนด้านงานอนุรักษ์ และสร้างกิจกรรมร่วมกับชาวบ้านในชุมชนและนักเรียนในโรงเรียนบริเวณรอบพื้นที่ เพื่อสร้างความรู้ที่ถูกต้องและปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า รวมถึงการมีเครือข่ายอนุรักษ์ที่เข้มแข็งในการช่วยสอดส่องดูแลภัยคุกคามที่เกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ โดยการทำงานอย่างบูรณาการร่วมกับพื้นที่อนุรักษ์ในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ระยะยาวต่อไป
 
วัตถุประสงค์
  • เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างอุทยานแห่งชาติและชุมชนใกล้เคียง
  • เพื่อส่งเสริมและพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้กับครู นักเรียน และบุคลากรในโรงเรียน
  • เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของอุทยานแห่งชาติ
  • เพื่อจัดตั้งเครือข่ายชุมชนและโรงเรียนเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่งและสัตว์ป่า ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โครงการฯ ออกปฏิบัติการเชิงรุกด้านการสร้างจิตสำนึกและเครือข่ายอนุรักษ์เสือโคร่งและสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่อง เช่น
  1. ออกเผยแพร่ให้ความรู้แก่โรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย 30 โรงเรียนรอบแนวเขตพื้นที่อนุรักษ์ จำนวน 35 ครั้ง มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 5,000 คน
  2. ออกเผยแพร่ให้ความรู้ใน 12 ชุมชนรอบพื้นที่โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมกิจกรรมอย่างน้อย 1,500 คน
  3. จัดค่ายอนุรักษ์เสือโคร่งและสัตว์ป่า รวมทั้งค่ายทายาทผู้พิทักษ์ผืนป่า จำนวน 6 ครั้งโดยมีเยาวชนเข้าร่วมประมาณ 600 คน
  4. จัดประชุมเชิงวิชาการบูรณาการความรู้สู่โรงเรียน ตามแนวทางการจัดการแหล่งเรียนรู้ การพัฒนาโครงงานด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งตามแนวทาง ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ รวม 4 ครั้ง โดยมีผู้บริหารและครูอาจารย์จากสถานศึกษาเข้าร่วม 180 คน
  5. สนับสนุนโครงงานเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งและสัตว์ป่าในโรงเรียน จำนวน 30 โรงเรียน
  6. จัดกิจกรรม “เสือโคร่งสัญจร” เนื่องในโอกาสต่าง ๆ ในชุมชน 6 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมชมกว่า 10,000 คน
      การสร้างแนวป้องกันให้เกิดขึ้นในสังคมชุมชน จะเป็นการสร้างกำแพงที่มั่นคงและมีประสิทธิภาพในระยะยาวในการปกป้องทรัพยากรสัตว์ป่า โดยเฉพาะเสือโคร่ง สร้างความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรที่มีคุณภาพและตระหนักในคุณค่า เป็นเครื่องมือทรงพลังร่วมกับงานในด้านอื่น ๆ ของโครงการฯ เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายของโครงการต่อไป
การประชาสัมพันธ์และสร้างจิตสำนึก

© DNP & WWF-Thailand

ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรทางการศึกษา

© WWF-Thailand

เผยแพร่ให้ความรู้แก่นักเรียนในโรงเรียนเป้าหมาย

การออกเผยแพร่ในชุมชน