What would you like to search for?

Our News

ประมงปูม้าไทย โครงการแรกที่ได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ประมงระดับโลก

เว็บไซต์ fisheryprogress.org ได้เผยแพร่ข้อมูลโครงการปรับปรุงการทำประมงปูม้าของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ fisheryprogress.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการยอมรับในด้านความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือด้านการติดตามตรวจสอบการทำประมง ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ได้เผยแพร่ข้อมูลโครงการปรับปรุงการทำประมงปูม้าของประเทศไทย หรือ Thailand Blue Swimming Crab Fishery Improvement Project  ลงในหน้าเว็บไซต์  ซึ่งแสดงถึงความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการเพื่อปรับปรุงการทำประมงปูม้าในประเทศไทย

โครงการ Fishery Improvement Project  หรือเรียกสั้นๆว่า “FIP” เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการทำประมงอย่างยั่งยืน ให้มีปริมาณสัตว์น้ำเพียงพอต่อการจับมาบริโภคในระยะยาว ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมการบริหารจัดการประมงอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ โครงการลักษณะนี้มีการดำเนินการในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นผลจากความตื่นตัวในเรื่องความยั่งยืนด้านอาหารทะเล หลังทรัพยากรประมงลดลงอย่างมาก และคาดว่าจะมีไม่เพียงพอต่อการบริโภคในอนาคต 

ปัญหาสำคัญในการทำประมงปูม้าของประเทศไทย เกิดจากการจับปูม้าเป็นปริมาณมากเกินกว่ากำลังการผลิตของธรรมชาติ ประกอบกับปูที่จับได้นั้นเป็นปูไข่นอกกระดอง และปูม้าขนาดเล็กที่ยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์ ทำให้เกิดความกังวลว่า ในอนาคต ปูม้าอาจจะเกิดใหม่และเติบโตขึ้นมาทดแทนไม่ทันความต้องการของผู้บริโภค 

โครงการประมงปูม้า หรือ FIP เป็นโครงการแรกของประเทศไทยที่ดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ และมีแผนงานที่ชัดเจนเพื่อปรับปรุงดัชนีชี้วัดในด้านต่างๆ  โดยที่ผ่านมา โครงการได้ดำเนินการอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี  เนื่องจากเป็นแหล่งทำประมงปูม้าขนาดใหญ่ที่สำคัญแหล่งหนึ่งของประเทศ ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการเป็นการทำงานร่วมกันจากองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น  กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รวมถึงกลุ่มชาวประมงในพื้นที่และองค์กร WWF ประเทศไทย

“FIP เป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การทำประมงอย่างยั่งยืน มีการใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อนำไปปรับใช้กับการบริหารจัดการที่เหมาะสม การที่ FIP ปูม้าของไทยได้ขึ้นเว็บไซต์ fisheryprogress.com ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเปิดให้คนทั่วโลกได้ทราบ ติดตาม และตรวจสอบความก้าวหน้าโครงการร่วมกัน และยังเป็นช่องทางสื่อสารให้นานาชาติได้ทราบถึงความตั้งใจในการปรับปรุงการทำประมงปูม้าของเราให้ดีขึ้นด้วย” ภควรรณ ตาฬวัฒน์ ผู้จัดการโครงการประมง WWF - ประเทศไทยกล่าว 

อ่านต่อเพิ่มเติม:http://fisheryprogress.com/fip-profile/thailand-blue-swimming-crab-bottom-gillnettrap

 

สนับสนุน
สนับสนุน