What would you like to search for?

Our News

พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง Ramsar Site ลำดับที่ 15 ของไทย

แม่น้ำสงครามตอนล่าง แรมซาร์ไซต์ลำดับที่ 15 ของไทย

นครพนม ประกาศรับรองพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง
ขึ้นทะเบียนเป็น Ramsar Site ลำดับที่ 15 ของไทย

จังหวัดนครพนม - รองผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการจังหวัดนครพนมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมอบใบประกาศขึ้นทะเบียนลุ่มน้ำสงครามตอนล่างเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำลำดับที่ 15 ของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ชูผลสำเร็จของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับชุมชน 49 แห่ง บนพื้นที่กว่า 34,000 ไร่

รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ในฐานะผู้แทนจังหวัดนครพนม รับมอบใบประกาศนียบัตรรับรองการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการให้พื้นที่ลุ่มแม่น้ำสงครามตอนล่างเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลก หรือ แรมซาร์ไซต์ ลำดับที่ 2420 และเป็นลำดับที่ 15 ของประเทศไทย โดยมีเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหน่วยประสานงานกลางระดับชาติของอนุสัญญาฯ เป็นผู้มอบ

“แม่น้ำสงคราม ถือเป็นแม่น้ำสายหลักของลุ่มน้ำสงครามที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และเป็นแหล่งน้ำจืดที่มีระบบนิเวศหายากได้แก่ ป่าบุ่งป่าทามผืนใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญในเชิงความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ในระบบนิเวศ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์ปลาน้ำจืด ซึ่งแม่น้ำสงครามถือได้ว่าเป็นแหล่งประมงพื้นบ้านที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของคนในพื้นที่ ตลอดจนเป็นแหล่งวางไข่ของพันธุ์ปลาจากแม่น้ำโขงที่อพยพเข้ามาเพื่อผสมพันธุ์ในช่วงฤดูน้ำหลาก พื้นที่นี้มีการสำรวจพบพบความหลากหลายของพันธุ์ปลาอย่างน้อย 124 ชนิด พันธุ์พืช 208 ชนิด จึงมีทั้งความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจท้องถิ่นและภูมิภาค

            อย่างไรก็ตาม พื้นที่แม่น้ำสงครามตอนล่างในอดีตนั้น ถือเป็นแหล่งน้ำจืดที่ประสบปัญหาการจัดการ โดยพบความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีน้ำท่วมขัง และมีข้อมูลการบุกรุกและทำลายป่าในเขตต้นน้ำที่จะใช้น้ำในการเกษตร” รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมกล่าว

ด้วยการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อมและความสำคัญของพื้นที่แม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนมจึงได้ร่วมมือกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ประเทศไทย ริเริ่มโครงการฟื้นฟูลุ่มแม่น้ำสงครามตอนล่าง นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 โดยการสนับสนุนด้านงบประมาณและความร่วมมือจากธนาคารเอชเอสบีซี (ประเทศไทย) ภายใต้โครงการ HSBC Water Programme  โดยธนาคารเอชเอสบีซีถือเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกในประเทศไทยที่มีส่วนร่วมในการทำงานด้านการอนุรักษ์แหล่งน้ำจืดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โครงการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำและระบบนิเวศรอบบริเวณแม่น้ำสงครามตอนล่างเริ่มต้นขึ้น ในสองอำเภอของจังหวัดนครพนม คือ อำเภอท่าอุเทน และอำเภอศรีสงคราม พร้อมประสานความร่วมมือกับ 49 ชุมชน ที่ในพื้นที่ 34,000 ไร่ โดยเน้นการประชาสัมพันธ์กิจกรรมบนบก เช่น การทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน การลดใช้สารเคมีที่เป็นพิษซึ่งอาจปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ รวมถึงการจัดการขยะและของเสียที่ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ โดย WWF ประเทศไทยได้ปฏิบัติหน้าที่เสมือนเป็นพี่เลี้ยงของโครงการ นำหลักการและองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ร่วมกับการสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้และหวงแหนต่อทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของพื้นที่

“เรานำเสนอเรื่องแรมซาร์มากว่า10 ปี มีการทำเอกสารส่งไปที่ฝ่ายอนุสัญญาให้พิจารณา ซึ่ง WWF และ HSBC ลงพื้นที่อย่างเข้มข้น จนทำให้เรามีข้อมูลทุกอย่างตั้งแต่ชนิดพันธุ์พืช พันธุ์ปลา ตลอด 92 กิโลเมตร ดิฉันขอแสดงความยินดีกับจังหวัด และทีมงาน การเป็นแรมซาร์ไซต์ก็คล้ายๆ เรื่องของการเป็นมรดกโลก เราเสนอขึ้นทะเบียน เราก็ต้องมีการแสดงให้เห็นคุณค่าอันโดดเด่นของพื้นที่ เทียบเคียงกัน และเป็นเรื่องที่เราต้องภูมิใจ โดยหลังจากขึ้นทะเบียนแล้ว เราก็ต้องมีแผนและมีการทำงานต่อไป เพราะการขึ้นทะเบียนเป็นแค่จุดเริ่มต้น เราจะต้องสร้างความตระหนักและพลังในการอนุรักษ์ให้เกิดขึ้น การเป็นแรมซาร์ เราไม่ได้ประกาศห้ามใข้พื้นที่ แรมซาร์ไม่ได้เป็นตัวขัดขวางการพัฒนา แต่ตามหลักแรมซาร์คือการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาดสอดรับกับวิถีชีวิตดั้งเดิม และอนุรักษ์ไปด้วย”

นางสาวพิมพ์ภาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ประเทศไทย กล่าวถึงการประกาศรับรองพื้นที่แม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม เป็นพื้นที่แรมซาร์ไซต์แห่งที่ 15 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ว่า”การขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์ครั้งนี้ ถือความสำเร็จที่น่ายินดี เพราะเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่การทำงานอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ เกิดจากความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหน่วยงานที่ประสานงานกลางระดับชาติของอนุสัญญาแรมซาร์ ซึ่งปัจจุบัน มีประเทศต่างๆ เข้าร่วมเป็นภาคีรวม 171 ประเทศทั่วโลก”

ด้านนายเคลวิน แทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย  กล่าวว่าธนาคาร   เอชเอสบีซี ในฐานะธนาคารชั้นนำระดับโลกและธนาคารแห่งแรกในประเทศไทย มีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะให้การสนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อมของไทย ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกด้าน

“ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของโครงการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม โดยความร่วมมือของ WWF-ประเทศไทย จนได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่แรมซาร์แห่งที่ 15 นี้ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของเอชเอสบีซีที่มุ่งดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะด้านชุมชนและสิ่งแวดล้อม นับเป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างภาครัฐภาคธุรกิจ NGO และชุมชนท้องถิ่นที่จะช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของไทยให้ยั่งยืนต่อไป   

นอกจากนี้ ธนาคารฯยังส่งเสริมให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมอาสาสมัครต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เพื่อให้พนักงานเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์น้ำ ตลอดจนการตอบแทนสังคมและชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ การได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่แรมซ่าในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงตัวอย่างของการอนุรักษ์และรู้จักใช้ทรัพยากรจากแหล่งน้ำอย่างเล็งเห็นคุณค่าโดยชุมชน และเพื่อชุมชน ซึ่งจะช่วยให้พื้นที่ลุ่มน้ำสงครามตอนล่างมีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

นายยรรยง ศรีเจริญ ผู้จัดการโครงการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง WWF ประเทศไทย กล่าวว่า “แม่น้ำสงคราม มีความสำคัญมากในเชิงระบบนิเวศ เป็นเหมือนอู่ข้าวอู่น้ำของแม่น้ำโขง คือ ช่วยเป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำ ช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารด้านโปรตีนจากปลา หล่อเลี้ยงประชากรมากกว่า 60 ล้านคนใน 4 ประเทศ ดังนั้น การที่แม่น้ำสงครามตอนล่าง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่แรมซาร์ไซต์แห่งที่ 15 ของประเทศไทย และแห่งที่ 2,420 ของโลกนั้น จะช่วยป้องกันการบุกรุกพื้นที่ และช่วยสร้างความชัดเจนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ได้อย่างชาญฉลาด และยั่งยืนต่อไป”

------------------------------
อนุสัญญาแรมซาร์
อนุสัญญาแรมซาร์เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลก โดยอนุสัญญาฯ ได้รับการร่างและรับรองจากประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการประชุม ณ เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2518 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เกือบ 90% ของประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ลงนามรับรองและเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก
 
ภายใต้อนุสัญญาฯ ภาคีแต่ละประเทศต้องกำหนดและวางแผนการดำเนินกิจกรรมใด ๆ เพื่อรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ประเทศไทยได้คัดเลือกพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ เพื่อบรรจุในทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ​และส่งเสริมการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ รวมทั้งจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้ชุมชนตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งนี้ ประเทศไทยได้เข้าร่วมภาคีอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) ในลำดับที่ 110 เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2541 เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญของประเทศ
 
© WWF-Thailand
Ramsar Ceremony in Nakhon Phanom_August 2020

 

สนับสนุน
สนับสนุน