What would you like to search for?

โครงการสวนยางยั่งยืนสำหรับเกษตรกรรายย่อย Sustainable Rubber for Smallholders

© WWF-Thailand

ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย และเป็นไม้ยืนต้นที่หล่อเลี้ยงชีวิตเกษตรกรนับล้านราย

WWF ทำอะไร?

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเกษตรกรรายย่อยที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับ พืชเศรษฐกิจประเภทยางพาราอยู่ราว 1.7 ล้านคน ดังนั้นการสร้างสมดุลระหว่างรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง และเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ WWF ประเทศไทย มุ่งมั่นทำงานพัฒนา จนก่อเกิดเป็นโครงการการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนสำหรับเกษตรกรรายย่อย หรือ Sustainable Rubber for Smallholders (SR4SH) ในปี พ.ศ.2560

โครงการ SR4SH มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรรายย่อยในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งมีการเพาะปลูกยางพารารวมกันแล้วมีขนาดใหญ่มากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดสงขลา ระยอง และบึงกาฬ ทั้ง 3 จังหวัด ถือเป็นพื้นที่สําคัญในการขับเคลื่อนการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนเพื่อนําไปสู่การลดผลกระทบเชิงลบที่มีต่อพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ภายใต้ระบบความร่วมมือแบบหลายภาคส่วน (Multi-Actors Partnership: MAP) ที่เน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อการมีส่วนร่วมตลอดห่วงโซ่อุปทานยางพาราอย่างเท่าเทียม ประกอบด้วยกลุ่มเกษตรกรรายย่อย องค์กรอิสระทั้งภาคสังคมและสิ่งแวดล้อม ภาคธุรกิจ สถาบันวิชาการ และหน่วยงานของรัฐ อีกทั้งยังมีการขยายความร่วมมือในการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนไปยังกลุ่มเกษตรกรรายย่อยในประเทศกัมพูชาและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

ระหว่างปี พ.ศ.2563 - 2564 เจ้าหน้าที่จากโครงการ SR4SH ได้ทำการอบรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่เป้าหมาย และมีโครงการนำร่องที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ การต่อยอดจากการอบรม SR4SH นำไปสู่การจัดการสวนยางตามมาตรฐาน FSC™ (พื้นที่รับรอง 1571.19 ไร่ หรือ 251.39 เฮกตาร์) โดยกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านนาปรังพัฒนา (NPFG) ได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC™ เป็นที่เรียบร้อยในปี พ.ศ.2563

ความเข้มแข็งของเกษตรกรรรายย่อยและความสำเร็จในการยกระดับมาตรฐานการปลูกยางพาราสู่ระดับสากลจะช่วยให้เกษตรกรมีอำนาจเจรจาต่อรองกับผู้ซื้อรายใหญ่ และสามารถแข่งขันในระดับสากลได้มากขึ้น พร้อมทั้งยังสามารถจัดการสวนยางให้สอดคล้องกับมาตรฐานการจัดการป่าไม้ยั่งยืนระดับสากล FSC™ และตอบสนองต่อกระแสความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันที่กำลังมองหาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ได้มาจากการตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ที่มาจากป่าปลูกทดแทนด้วยเช่นกัน
 

WWF ทำงานกับใคร?

ในปี พ.ศ.2563 WWF ประเทศไทย ปรับรูปแบบการจัดการสวนยางเพื่อมุ่งสู่ขั้นตอนขอรับรองมาตรฐานการจัดการป่าไม้ยั่งยืนระดับสากล FSC™ และสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายในพื้นที่ 3 จังหวัดนำร่องของโครงการ ได้แก่ สงขลา ระยอง และบึงกาฬ ปัจจุบัน มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,708 ราย รวมพื้นที่มากกว่า 4,000 ไร่

ในขณะเดียวกัน โครงการ SR4SH ยังได้พัฒนาเกณฑ์และข้อกำหนดในการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนสำหรับเกษตรกรรายย่อย หรือ Sustainable Rubber for Smallholders Criteria and Indicator (SR4SH C&I) เพื่อใช้เป็นแนวทางจัดการสวนยางในบริบทของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการจัดการใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์จากยางพารา และส่งเสริมให้มีการจัดการสวนยางอย่างเหมาะสมและต่อเนื่องในอนาคต

ก้าวต่อไปของ WWF

โครงการ SR4SH วางแผนขยายพื้นที่นำร่องการดำเนินกิจกรรมการจัดการสวนยางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากเดิม 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา ระยอง และบึงกาฬ ไปยังอีก 4 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดหนองคาย จันทบุรี ตราด และสุราษฏร์ธานี เพื่อให้เกิดการนำเกณฑ์และข้อกำหนดในการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนสำหรับเกษตรกรรายย่อย (SR4SH C&I) ไปใช้ในวงกว้าง รวมถึงการนำเทคโนโลยีและเครื่องมือทันสมัยอย่างอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) มาใช้ในการจัดการพื้นที่สวนยางในจังหวัดนำร่องทั้งหมดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น