What would you like to search for?

โครงการอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี

© © WWF-Greater Mekong / Wayuphong Jitvijak

ช้างป่าและสัตว์ป่ามีความสำคัญในระบบนิเวศผืนป่ากุยบุรี ช้างป่าเป็นผู้บุกเบิกทางใหม่ในผืนป่า ช้างป่าถือเป็นพี่ใหญ่ของเหล่าสรรพสัตว์ป่าทั้งหลายในผืนป่ากุยบุรี โครงการอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี เข้ามาดำเนินงานร่วมกับอุทยานแห่งชาติกุยบุรี หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่น เพื่อร่วมกันลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

ปัญหาในพื้นที่

ชุมชนรอบพื้นที่แนวเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรีด้านทิศตะวันออก ได้รับผลกระทบจากการที่ช้างป่าออกมาทำลายพืชผลเกษตรของชาวบ้าน โครงการอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี WWF ประเทศไทย ร่วมกับอุทยานแห่งชาติกุยบุรี หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชน ได้ร่วมมือกันเพื่อหาทางออกให้คน และช้างป่าสามารถอยู่ร่วมกัน ได้ ซึ่งจากข้อมูลสถิติในปี 2560 พบว่า มีการพบช้างป่าออกมาในพื้นที่การเกษตรที่อยู่ตามแนวเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรีด้านทิศตะวันออก เป็นจำนวนครั้งที่บ่อยขึ้น ทั้งตอนบน ตอนกลาง และตอนล่างของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ในปี พ.ศ. 2561 โครงการเฝ้าระวังช้างป่า ด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Kuiburi SMART early warning system) โดยความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับ บมจ. ทรู คอร์เปอเรชั่น มี WWF ประเทศไทย เป็นฝ่ายประสานงาน และดำเนินงานติดตามระบบ และดูแล Command Center ในการบริหารจัดการระบบร่วมกับอุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยได้เริ่มนำระบบมาทดลองใช้และนำข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุงระบบการเฝ้าระวัง และผลักดันช้างป่าในพื้นที่ แม้ว่าจะยังมีช้างป่าออกมาในพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านอยู่บ้าง แต่การมีระบบเตือนภัยล่วงหน้านี้ทำให้เจ้าหน้าที่ สามารถเข้ามาผลักดันช้างป่าให้กลับเข้าสู่ป่าได้รวดเร็ว และทันเวลาก่อนเกิดความเสียหายได้มากขึ้น

บทบาทของ WWF

ด้านป้องกัน

1. ภาระกิจปกป้องผืนป่ากุยบุรีและพื้นที่ป่าต้นน้ำของจังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เป็นภาระกิจที่ต้องดำเนินการลาดตระเวนทุกเดือน โดยมีหน่วยงานร่วมดำเนินภาระกิจลาดตระเวน ดังนี้ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี โครงการอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี WWF ประเทศไทย หน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก กองกำลังสุรสีห์ กรมทหารราบที่ 29 ชุดประสานงานโครงการพระราชดำริฯ ป่ากุยบุรี (มณฑลทหารบกที่ 15) กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 145

2. สนับสนุนอุปกรณ์บางส่วนในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพิ่มเติมจากงบประมาณหลักของหน่วยงานต้นสังกัด และสนับสนุนเสบียงอาหารในการปฏิบัติภาระกิจลาดตระเวนร่วมประจำเดือนของเจ้าหน้าที่

3.พัฒนาระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพอุทยานแห่งชาติกุยบุรี (SMART Patrol) ด้านงานวิจัย ดำเนินงานโครงการติดตามสถานภาพสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ด้านการจัดการแหล่งอาหารและแหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์ป่า และติดตามการออกมาใช้พื้นที่แหล่งอาหารของสัตว์ป่า การสร้างแหล่งอาหารและแหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์ป่าในพื้นที่โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้นเป็นการดำเนินงานเพื่อปกป้องสัตว์ป่าและผืนป่า เป็นการดำเนินงานตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 9 เพื่อแก้ไขสถานการณ์ความรุนแรงระหว่างคนกับช้างป่าเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 โดยทรงมีพระราชดำรัสว่า

“…ช้างป่าควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอ การปฏิบัติคือ ให้ไปสร้างอาหารในป่าเป็นแปลงเล็ก ๆ และกระจาย กรณีช้างออกมาที่ชายป่า ต้องให้ความปลอดภัยกับช้างป่า…”

คณะทำงานได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อยุติข้อพิพาทระหว่างคนกับช้างป่า ในการดำเนินการสร้างแปลงหญ้าแหล่งอาหารสัตว์ป่าเป็นแปลงเล็กๆ และกระจาย ทั้งนี้การสร้างแปลงหญ้าแหล่งอาหารสัตว์ป่าก็ยังมีการดำเนินการปรับปรุงรักษาแปลงหญ้าอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และมีการติดตามการออกมาใช้ประโยชน์แหล่งอาหารของสัตว์ป่าในพื้นที่แปลงหญ้าแหล่งอาหารสัตว์ป่าเป็นประจำทุกเดือน

ด้านการมีส่วนร่วม

เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งของคนกับช้างที่ออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรในพื้นให้น้อยลงและช่วยให้ชาวบ้านมีทัศนะคติที่ดีต่อช้างป่า ทำให้คนกับช้างอยู่ร่วมกันได้ สนับสนุนการเฝ้าระวังช้างป่าและผลักดันช้างป่ากลับเข้าพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่า โดยมีการสนับสนุนทุกเดือนให้กับหน่วยงานร่วม เพื่อเฝ้าระวังช้างป่าออกมารบกวนพืชผล ทางการเกษตรของชาวบ้านตามข้อตกลงที่ชาวบ้าน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลหาดขาม และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ลงนาม ร่วมกันในการเฝ้าระวังช้างป่าออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรและได้ ปฏิบัติร่วมกันมา อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ร่วมส่งเสริมให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตร มีรายได้ทางเลือกจากกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี

WWF มีวิธีดำเนินการอย่างไร

โครงการอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี WWF ประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชน สนับสนุนความรู้ โดยการจัดอบรมให้ความรู้ ด้านการเก็บข้อมูล (SMART Patrol) รวมถึงมีการอบรมเพิ่มทักษะการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ สนับสนุนอุปกรณ์ ด้านการวิจัยสถานภาพสัตว์ป่าในผืนป่ากุยบุรี รวมถึงงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพด้วย สนับสนุนการจัดการแหล่งอาหาร และแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าร่วมกับอุทยานแห่งชาติกุยบุรี สนับสนุนการจัดกิจกรรมให้ความรู้กับนักเรียนในโรงเรียนในพื้นที่แนวเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี สนับสนุนการอบรมเยาวชน และสมาชิกกลุ่มชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรีที่เป็นชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า เพื่อให้สามารถสร้างอาชีพเสริม เป็นการหารายได้เสริมได้อีกทางหนึ่ง ปัจจุบัน เราเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ในโครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อลดปัญหาระหว่างคนกับช้างป่า

WWF ทำงานกับใคร

WWF ประเทศไทย ได้มีการทำงานแบบบูรณาการด้วยการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการ เอกชน และชุมชนในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์