WWF เปิดเผยผลสำรวจความต้องการซื้องาช้างประจำปี 2563

Posted on May, 31 2021

WWF เปิดเผยผลสำรวจความต้องการซื้องาช้างในประเทศจีนลดลงมากสุด นับตั้งแต่ประเทศจีนประกาศปิดตลาดค้างาช้างในประเทศ โดยประเทศไทยยังคงเป็นประเทศปลายทางที่สำคัญสำหรับการซื้องาช้าง
WWF เผยผลการสำรวจภาพรวมการซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้างประจำปี พ.ศ. 2563 พบความต้องการซื้อลดลงต่ำที่สุดตั้งแต่มีการปิดตลาดการค้างาช้างในจีน ในปี พ.ศ. 2561 อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงเป็นตลาดค้างาช้างสำคัญสุดในสายตานักท่องเที่ยวจีนแม้การเดินทางจะลดลง
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ร่วมกับบริษัทวิจัยระดับโลก GlobeScan จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคชาวจีนในประเด็นการซื้อขายงาช้าง โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างกว่า 2,000 คน ใน 15 เมือง ซึ่งเป็นการสำรวจที่จัดทำขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 นับตั้งแต่ประเทศจีนประกาศปิดตลาดงาช้าง โดยการสำรวจนี้ เป็นการประเมินผลข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อการซื้อขายผลิตภัณฑ์จากงาช้าง ปริมาณการซึ้อ และความตั้งใจที่จะซื้องาช้างในอนาคต รวมทั้งการตระหนักรู้ถึงการปิดตลาดการซื้อขายงาช้างในประเทศ ทั้งนี้ จากการสำรวจในปีนี้พบว่าโดยรวมความต้องการซื้องาช้างของคนจีนในประเทศลดลงเรื่อยๆ แต่ก็ยังคงมีกลุ่มสำรวจบางกลุ่มที่ยังคงมีความต้องการในการซื้องาช้างอยู่
            นางสาวพิมพ์ภาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า แม้ในปัจจุบันสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสโควิด19 ส่งผลให้ธุรกิจการท่องเที่ยวหยุดชะงักในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย “WWF ยังคงติดตามสถานการณ์ตลาดการค้างาช้างอย่างใกล้ชิด เพื่อยุติการซื้อขายซากสัตว์ป่าผิดกฎหมายจากนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการล่าช้างป่าแอฟริกันเพื่อเอางา” 
            ขณะที่ ดร.มากาเร็ต คินเนียร์ต   (Dr. Margaret Kinnaird) หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองสัตว์ป่าจาก WWF (WWF Wildlife Practice) ได้ให้ความเห็นต่อผลสำรวจว่า “เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่พบว่าความต้องการในการซื้องาช้างในประเทศจีนขยับมาอยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการทำสำรวจเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้บริโภคที่ยังคงยืนยันที่จะซื้องาช้างถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการทำงานของเราเพื่อลดความต้องการบริโภคในระบบตลาดซื้อขายงาช้าง  WWF เรียกร้องให้มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องในการบังคับใช้กฎหมาย การต่อต้านการล่าสัตว์ป่า การต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่า และการปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัย เพื่อให้แน่ใจว่าช้างป่าทั่วโลกได้ฟื้นตัว และมีการเพิ่มจำนวนอย่างยั่งยืน”
            ทางด้านนายเจษฎา ทวีกาญจน์ ผู้จัดการโครงการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ประจำภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้ให้ความเห็นที่สอดคล้องกับ ดร.มากาเร็ต คินเนียร์ต ว่าเราจำเป็นต้องทำงานกันต่อไปเพื่อหยุดยั้งการซื้องาช้างของนักท่องเที่ยวชาวจีน
            “ผลการวิจัยในปีนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงเป็นตลาดซื้องาช้างยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีการเดินทางเป็นประจำและมีการซื้องาช้างระหว่างการเดินทาง แม้ว่าในปี พ.ศ. 2563 การเกิดโรคระบาดจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการเดินทางระหว่างประเทศ แต่เรายังคงมีความจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องเพื่อให้แน่ใจว่าชื่อเสียงของประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางของการซื้องาช้างมีการเปลี่ยนแปลงและตลาดการซื้อขายงาช้างที่ขับเคลื่อนโดยนักท่องเที่ยวต้องยุติลง”
            ถึงแม้ว่าเกือบ 3 ใน 4 (73%) ของผู้ตอบแบบสำรวจเชื่อว่าการนำงาช้างเข้าประเทศจีนเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่ยังมีกลุ่มผู้สำรวจ 19% ที่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ทั้งนี้ การลักลอบนำงาช้างกลับเข้าประเทศจีน ไม่เพียงแต่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศเท่านั้น ยังคงมีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ในการห้ามนำเข้าหรือส่งออกงาช้างโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
            WWF ได้ผนึกกำลังกับพันธมิตรที่สำคัญในภาคธุรกิจการเดินทางและการท่องเที่ยวในการดำเนินงานด้านการต่อต้านการค้าสัตว์ป่า อาทิเช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สายการบินไทย โดยมีเป้าหมายสำคัญในการลดการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายที่ขับเคลื่อนโดยนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
            “นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 WWF ได้ดำเนินกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ “#TravelIvoryFree” โดยร่วมมือกับพันธมิตรในภาคธุรกิจการเดินทางและการท่องเที่ยวเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมการซื้องาช้างของนักท่องเที่ยว” นายเจษฎา ทวีกาญจน์ กล่าว “เรามีการขยายความร่วมมือไปยังพันธมิตรต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและบรรลุผลมากขึ้น”
            จากรายงานการสำรวจปีที่ 4 “ความต้องการบริโภคงาช้างหลังการปิดตลาดงาช้างในประเทศจีน ประจำปี พ.ศ. 2563: “Demand Under the Ban – China Ivory Consumption Research 2020” พบว่า:
  • ความตั้งใจของผู้บริโภคที่จะซื้องาช้างในอนาคตทั้งก่อนที่จะได้รับการแจ้งเตือนเกี่ยวกับการปิดตลาดค้าขายงาช้างในจีนอยู่ที่ร้อยละ 19 และหลังได้รับการแจ้งเตือนเกี่ยวกับการปิดตลาดงาช้างอยู่ที่ร้อยละ 8 ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอยู่ในระดับน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของความตั้งใจที่จะซื้องาช้างในอนาคตก่อนการปิดตลาดงาช้างในปี พ.ศ. 2560 (ก่อนและหลังอยู่ในระดับร้อยละ 43 และร้อยละ 18 ตามลำดับ)
  • การซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้างในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาลดลงจนแตะระดับต่ำสุดในปี พ.ศ. 2563 นับตั้งแต่มีการเริ่มการสำรวจประจำปีในปี 2560 ทั้งนี้เหตุผลยอดนิยมของการซื้องาช้างคือเพื่อให้เป็นของขวัญ
  • ผู้ถูกสำรวจร้อยละ 88 เชื่อว่าการค้างาช้างเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
  • การสำรวจในครั้งนี้พบว่าสัดส่วนของกลุ่มนักซื้อตัวจริง (Die-hard buyer) ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญอยู่ที่ร้อยละ 8 ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งก่อนจะมีการประกาศปิดตลาดการค้างาช้างในประเทศจีนในปี พ.ศ. 2560 โดยกลุ่มผู้ซื้อนี้มองว่าการซื้องาช้างมีวัตถุประสงค์เพื่อคุณค่าทางศิลปะ
  • นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางออกนอกประเทศมากกว่าหนึ่งครั้งต่อปี (ก่อนจะมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19) ยังคงเป็นกลุ่มเดียวที่มีอัตราการซื้องาช้างเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับอัตราการซื้อในปี พ.ศ. 2560 ในขณะที่การตระหนักรู้ถึงการปิดตลาดค้างาช้างของกลุ่มดังกล่าวอยู่ในระดับสูงที่สุดในปี พ.ศ. 2563 ทั้งก่อนและหลังจะมีการย้ำเตือนเรื่องการปิดตลาดการค้างาช้างในประเทศ โดยพวกเขาก็ยังคงมีความตั้งใจที่จะซื้องาช้างในอนาคตอยู่ดี ในขณะที่กลุ่มสำรวจอื่นๆ ค่อยๆ หมดความสนใจลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
 
หมายเหตุบรรณาธิการ
เกี่ยวกับการสำรวจความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้าง
  • การศึกษานี้ จัดทำขึ้นโดยบริษัท GlobeScan เป็นบริษัททำวิจัยชั้นนำของโลก และเป็นการวิจัยที่ใหญ่ที่สุดที่ได้ทำการวิจัย และการศึกษาหัวข้อเกี่ยวกับการบริโภคผลิตภัณฑ์จากงาช้างในประเทศจีน ในกลุ่มตัวอย่างกว่า 2,000 คน ใน 15 เมืองทั่วประเทศจีน ต่อปี โดยการวิจัยปีนี้จัดเป็นประจำปีที่ 4 นับตั้งแต่ปี 2560
  • งานวิจัยในครั้งนี้สามารถสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีด้วยเงินทุนสนับสนุนจาก กระทรวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธรัฐเยอรมัน (BMZ)
African elephant in Kenya.
© naturepl.com / Jeff Vanuga / WWF
สนับสนุน
สนับสนุน