ผลการประเมินจาก WWF ชี้ ธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินทั่วโลก ต้องเร่งปรับตัว เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Posted on October, 27 2021

กรุงเทพฯ, 28 ตุลาคม 2564 – ผลการประเมินธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินจากรายงาน Sustainable Financial Regulations and Central Bank Activities: SUSREG ฉบับแรกขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ซึ่งประเมินความก้าวหน้าและการชี้วัดการบูรณาการหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเข้าเป็นหนึ่งในปัจจัยการพิจารณาข้อกำหนดและกิจกรรมด้านการเงินของธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินใน 38 ประเทศทั่วโลก พบว่ายังมีช่องว่างขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลให้ภาคการเงินยังคงมีความเสี่ยง เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความสูญเสียทางธรรมชาติ
 
ผลการประเมินระบุว่าธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลได้ดำเนินการพัฒนากลยุทธ์และเริ่มนำมาตรการที่เป็นรูปธรรมมาใช้เพื่อจัดการกับความเสี่ยง เนื่องมาจาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทว่ามาตราการดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมปัญหาความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในด้านอื่นๆเท่าที่ควร
 
“ความคืบหน้าในการดำเนินการของธนาคารกลาง และหน่วยงานกำกับดูแลด้านการธนาคารเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่เราต้องเร่งการดำเนินการดังกล่าว เพื่อจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เราเผชิญ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความตกลงปารีส (Paris Agreement) และเป็นไปตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภัยคุกคามจากการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ และแก้ไข้ควบคู่ไปกับภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ” มาร์กาเร็ต คูลโลว์ (Margaret Kuhlow) Finance Practice Leader ของ WWF กล่าว
 
ทั้งนี้ รายงานครอบคลุม 38 ประเทศทั่วภูมิภาคอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียแปซิฟิก โดยส่วนใหญ่เป็นสมาชิกและผู้สังเกตการณ์ของ Basel Committee on Banking Supervision (BCBS) คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% ของ GDP โลก และมีสัดส่วนของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 80% นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วย 11 จาก 17 ประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด
 
สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ในปีที่ผ่านมาภาคการเงินไทยมีความคืบหน้าการดำเนินงานในมิติความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม โดยสถาบันการเงินมีการผนวกหลักการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG รวมถึงการพิจารณาผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ธุรกิจ โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการ และกระบวนการดำเนินงานต่างๆ ภายในองค์กร ยิ่งไปกว่านั้นหน่วยงานกำกับดูแลในภาคการเงินได้ร่วมกันพัฒนา “แนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Initiatives for Thailand)” เพื่อใช้กำหนดทิศทางการดำเนินการด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนสำหรับภาคการเงินไทยที่ชัดเจนและสอดคล้องกัน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการในส่วนนี้ให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ผ่านการกำหนดแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่ชัดเจน และสร้างระบบนิเวศทางการเงินที่สามารถปูทางสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ
 
ด้วยเล็งเห็นบทบาทในความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม WWF ได้กระตุ้นให้ธนาคารกลางและหน่วยงานกับดูแลให้แสดง และยึดมั่นในจุดยืนต่อสาธารณะในด้านการตอบสนองต่อความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการดำเนินงานของภาครัฐให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งส่งสัญญาณไปยังสถาบันการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเปลี่ยนแปลงด้านข้อกำหนด กฎเกณฑ์และการกำกับดูแลต่างๆ เนื่องจากในช่วงทศวรรษนี้ การมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลง และการประสานงานระหว่างประเทศจะเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ
 
นางสาวพรฤดี ตังคเศรณี ผู้จัดการโครงการเงินเพื่อความยั่งยืนของ WWF ประเทศไทย กล่าวว่า “หลายปีที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลสร้างความร่วมมือกับทั้งองค์กรระหว่างประเทศ และในประเทศเพื่อให้การพัฒนาหลักการ แนวปฏิบัติ ตลอดจนข้อกำหนดต่างๆ เป็นไปอย่างสอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน เพื่อให้สามารถปรับใช้ และนำไปได้จริงในการดำเนินธุรกิจ”
 
ข้อกำหนดและความคาดหวังในเชิงการกำกับดูแลได้เริ่มมีการบังคับใช้แล้วในหลายประเทศ จากการประเมินพบว่าราว 35% มีการกำหนดให้ธนาคารต้องพัฒนาและ/หรือเสริมสร้างแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และ/หรือสังคม
 
นอกจากนี้ ได้มีการเร่งศึกษาเพื่อให้สามารถทำความเข้าใจ และคำนวณค่าความเสี่ยงที่ส่งผลต่อธนาคาร เช่นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมทั้งการพัฒนา Taxomony เพื่อระบุกิจกรรมที่ “สอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืน” อย่างไรก็ตามการดำเนินการตามข้อกำหนดหรือการใช้เครื่องมือในการกำกับดูแล เพื่อตรวจสอบการนำไปปฏิบัติ และเพื่อปกป้องระบบการโอนเงิน โดยรวมจากความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมและสังคมนั้น ยังพบเห็นได้ไม่แพร่หลาย
 
จากมุมมองด้านธนาคารกลาง เห็นได้ว่าการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อม และสังคมยังไม่ได้รับการบูรณาการเข้ากับมาตรการนโยบายการเงินที่สำคัญอย่างสมบูรณ์ เช่นการซื้อสินทรัพย์ ข้อกำหนดหลักประกัน หรือการรีไฟแนนซ์ โดยพบว่ามีธนาคารกลางเพียงแค่ 22% ที่มีการกำหนดมาตรการข้างต้น รวมถึงยังไม่มีการกำหนดมาตรการที่สอดคล้องกับตัวชี้วัดตาม SUSREG แม้จะมีความก้าวหน้าในส่วนของการบริหารทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ และการจัดการพอร์ตโฟลิโอในภาพรวม การนำมาตรการและเครื่องมือเหล่านี้มาใช้จะสามารถช่วยให้ธนาคารกลางจำกัดความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม อีกทั้งช่วยให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนเป็นไปอย่างราบรื่น
 
ประเด็นสำคัญจากรายงาน SUSREG ประจำปี พ.ศ.2564 มีดังนี้
  • ธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยตระหนักมากขึ้นถึงผลกระทบทางการเงินจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพหลายแห่ง เดินหน้าสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับระบบการเงินของตน
  • อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเกี่ยวกับเครื่องมือด้านนโยบายการเงิน ข้อกำหนดและการกำกับดูแลเพื่อสร้างความมั่นใจว่า สถาบันการเงินจะเลิกการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายด้านสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนในภาพรวมนั้น ยังคงไม่เป็นที่แพร่หลาย โดยเฉพาะไม่มีการนำข้อกำหนดด้านเงินทุน และสภาพคล่องตามหลักความระมัดระวัง เพื่อบรรเทาความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวมาบังคับใช้ ช่องโหว่นี้ อาจส่งผลต่อการขับเคลื่อนพันธกิจตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และการมุ่งสู่การเป็นสังคมปลอดคาร์บอน
  • ในช่วงเวลาที่วิกฤตสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมเริ่มส่งเสีญญาณถี่มากขึ้น ธนาคารกลาง และหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีแนวทางเพื่อการป้องกัน โดนภัยคุกคามของการสูญเสียทรัพยากรทางธรรมชาตินั้น มีความเชื่อมโยง และสำคัญเทียบเท่ากับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วนควบคู่กันไป
WWF จะแสดงผลการประเมินบน SUSREG Tracker platform ปีละ 2 ครั้ง และนำเสนอรายงานประจำทุกปี เพื่อแสดงความคืบหน้า โดยมุ่งเน้นไปที่แนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงข้อควรปรับปรุงในการดำเนินงาน
 
หมายเหตุบรรณาธิการ
เกี่ยวกับ SUSREG Tracker
Sustainable Financial Regulations and Central Bank Activities (SUSREG) Tracker เป็นเครื่องมือออนไลน์ที่ได้รับการพัฒนาภายใต้กรอบแนวคิดของ Greening Financial Regulation Initiative ของ WWF โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนธนาคารกลาง และหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินวางแผนป้องกัน และรับมือกับความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และสังคม รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางของกระแสเงินทุนไปสู่การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และมีความยั่งยืน SUSREG ช่วยสร้างให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติที่ดี พร้อมทั้งเสนอแนะส่วนสำคัญที่ควรพัฒนาเพิ่มเติม ข้อมูลที่ได้รับการประเมินอย่างสม่ำเสมอนี้จะช่วยให้ธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลสามารถนำไปใช้ต่อยอดการดำเนินการให้เป็นผลสำเร็จต่อไปได้
 
ในอนาคตอันใกล้นี้ SUSREG จะครอบคลุมการประเมินไปยังส่วนสำคัญอื่นในภาคการเงิน อาทิ ประกัน ตลาดทุน และผู้บริหารสินทรัพย์  ธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินสามารถตรวจสอบความคืบหน้าของการประเมินได้ที่ https://www.susreg.org/  
 
เกี่ยวกับ WWF´s Greening Financial Regulation Initiative (GFRI)
Greening Financial Regulation Initiative สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบการเงินด้วยการเชื่อมโยงความเสี่ยงดทางด้านการเงิน เข้ากับความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขาดแคลนน้ำ การลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ และด้วยการประสานความร่วมมือกับผู้กำหนดนโยบายธนาคารกลาง และหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน ในการปรับปรุงข้อกำหนดต่างๆ ตลอดจนแนวทางการดำเนินการให้ครอบคลุมการจัดการความเสียงดังกล่าว WWF นำเสนอเครื่องมือ งานศึกษาวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์ การประเมิน และการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ ที่จำเป็นในการส่งเสริมนโยบายระดับนานาชาติให้เป็นไปอย่างยั่งยืน อ่านรายละเอียดเพิ่มได้ที่ www.panda.org/gfr

 
Currency and money on a financial chart representing finance and economic investment
© Shutterstock / Chepko Danil Vitalevich / WWF
สนับสนุน
สนับสนุน