What would you like to search for?

Our News

โครงการ LIVING ASIAN FOREST

โครงการ LIVING ASIAN FOREST

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ และบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นแห่งแรกที่ร่วมลงนามในสัญญาเป็นพันธมิตรด้านการอนุรักษ์ในระดับโลก (Global Partnership) เป็นเวลา 5 ปี กับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ World Wildlife Fund for Nature (WWF)
 
โครงการ Living Asian Forest เริ่มต้นดำเนินงานตามเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2559 บนเกาะบอร์เนียว จังหวัดกะลิมันตันตะวันออก และเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ก่อนโครงการจะขยายการดำเนินงานมายังป่าอนุรักษ์ ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อีกหนึ่งพื้นที่ป่าตะวันตกซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในประเทศไทยในปี พ.ศ.2561
 
ความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่าง WWF และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน จำกัด มุ่งเน้นการทำงานอนุรักษ์เพื่อติดตามประชากรเสือโคร่ง และเหยื่อของเสือโคร่งที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (พื้นที่ 2,915 ตารางกิโลเมตร) และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี (พื้นที่ 969 ตารางกิโลเมตร) ที่ตั้งอยู่ในแนวทิวเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติของประเทศไทยที่มีอาณาเขตเชื่อมต่อกับประเทศเมียนมาร์ และคาดว่าจะได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ในอีกไม่นาน
 
โครงการ Living Asian Forest ดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าไทยให้อยู่คู่กับผืนป่า สอดคล้องกับพันธกิจด้านสิ่งแวดล้อมของโตโยต้า 2050 (Toyota Environmental Challenge 2050) ที่ต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติบนวิถีแห่งอย่างยั่งยืน
 
การติดตามประชากรเสือโคร่งที่ยังเหลืออยู่ในผืนป่าไทยด้วยกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ
 
เป้าหมายสำคัญของโครงการ Living Asian Forest ในประเทศไทย คือการอนุรักษ์ และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและอุทยานแห่งชาติกุบยุรีในระยะยาว บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้การสนับสนุนจัดซื้อกล้องดักจับภาพสัตว์ป่าจำนวน 120 เครื่อง โดยมีทีมนักวิจัยจาก WWF และเจ้าหน้าที่หน่วยลาดตระเวนเชิงคุณภาพของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้ติดตั้งกล้องทั้งหมดในจุดเป้าหมายตลอดเส้นทางเดินของสัตว์ป่าภายในอุทยานทั้งสองแห่ง
 
กล้องดักจับภาพสัตว์ป่า (Camera Trap หรือ Trail Camera) เป็นกล้องที่มีระบบการทำงานด้วยลำแสงอินฟราเรด มีความสามารถในการจับภาพความเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตในป่าใหญ่ที่เดินตัดผ่านระบบกล้องโดยอัตโนมัติโดยไม่ให้พวกมันรู้ตัว กล้องประเภทนี้ถูกใช้อย่างกว้างขวางตั้งแต่ช่วงต้นปีพ.ศ.2533 เพื่อประเมินความหนาแน่นของประชากรสัตว์ป่าและช่วยให้นักอนุรักษ์วางแผนรักษาความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
WWF ทั่วโลก รวมถึง WWF สำนักงานประเทศไทย นำข้อมูลจากกล้องดักจับภาพสัตว์ป่ามาใช้ในการวางแผนการทำงานอนุรักษ์ประชากรสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ทั้งนี้ ข้อมูลภาพถ่ายจากกล้องจำนวน 120 เครื่องที่สนับสนุนโดยบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการพื้นที่เพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง และเหยื่อของเสือโคร่ง อีกทั้ง ยังช่วยปกป้องสัตว์ป่าสายพันธุ์อื่นๆที่กำลังถูกคุกคาม หรือใกล้สูญพันธุ์อีกด้วย
 
ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ภาพจากกล้องดักจับภาพสัตว์ป่าได้เผยให้เห็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ในเขตอนุรักษ์ของอุทยานทั้งสองแห่งหลายชนิด อาทิ เสือดาว หมีควาย กระทิง และตัวนิ่ม กล้องดักจับภาพสัตว์ป่ายังบันทึกภาพของเสือโคร่งจำนวน 2 ตัวในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ ในขณะที่รอยเท้าเสือโคร่งในอุทยานแห่งชาติกุยบุรีก็ปรากฎขึ้นในอุทยานแห่งชาติกุยบุรีเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี
 
ความร่วมมือกันระหว่าง WWF และภาคธุรกิจผ่านโครงการ Living Asian Forest จะทำให้ทุกคนได้เห็นความงดงามของธรรมชาติที่ยังคงซ่อนตัวอยู่ในบริเวณพื้นที่เชื่อมต่อผืนป่าตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี และโครงการนี้จะต่อลมหายใจให้กับชีวิตในผืนป่า ผ่านงานวิจัยและการอนุรักษ์ที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมและได้ให้การสนุบสนุนอย่างต่อเนื่องต่อไป
 
© WWF-Thailand
A ranger in Kui Buri National Park installs the camera trap for tiger monitoring.
สนับสนุน
สนับสนุน