WWF เข้ามาดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทยได้นั้น เกิดขึ้นจากพระราชปฏิสันถารของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีต่อเจ้าหญิงจูเลียน่า อดีตพระราชินีนาถแห่งเนเธอร์แลนด์ พร้อมด้วย เจ้าชายเบิร์นฮาร์ด (องค์ประธานก่อตั้งของ WWF) ครั้งเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ และเข้าเฝ้าทูลละอองธุลี ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในปี พ.ศ. 2526 ทั้งสองพระราชวงศ์ทรงแสดงความเป็นห่วงเป็นใยและมีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทรงอุปถัมภ์งานด้านการอนุรักษ์

จากพระราชปฏิสันถารข้างต้น WWF จึงประสานงานกับรัฐบาลไทย และ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ผู้ก่อตั้งนิยมไพรสมาคมจัดงาน "Save Our Wildlife" ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อระดมทุนช่วยเหลืองานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าในประเทศไทย โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และ เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ (องค์ประธาน WWF International) ทรงเป็นประธานในงานครั้งนั้นด้วย

เงินทุนที่ได้ถูกนำมาใช้ในการก่อตั้งมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับเป็นองค์อุปถัมภ์

จากนั้น WWF ได้เริ่มเข้าให้การสนับสนุนงานอนุรักษ์ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงแรกให้การสนับสนุนทุนแก่กรมป่าไม้ ในโครงการอนุรักษ์เสือโคร่งที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ปี พ.ศ. 2523 WWF มอบเรือเพื่อการสำรวจสถานภาพเต่าทะเลและเฝ้าระวังผู้รุกล้ำรังของเต่าทะเลในบริเวณอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอีกหลายโครงการ

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2538 WWF ได้ก่อตั้งสำนักงานดำเนินการขึ้นในประเทศไทย และได้ริเริ่มโครงการต่างๆ ที่เกื้อกูลการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติขึ้น ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2548 WWF ประเทศไทยได้เป็นส่วนหนึ่งของ WWF Greater Mekong ซึ่งประกอบด้วย WWF กัมพูชา ลาว เวียดนาม และ ไทย

ด้วยจุดมุ่งหมายในการขยายขอบเขตความร่วมมือและการทำงานด้านอนุรักษ์ให้กว้างไกลครอบคลุมสู่ระดับภูมิภาค ซึ่งจะให้ความสำคัญต่อ 4 เขตภูมินิเวศที่ระบุไว้ใน WWF Global 200 อันประกอบด้วยเขตภูมินิเวศเทือกเขาตะนาวศรี-ถนนธงชัย ป่าดิบแล้งในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ลุ่มน้ำโขงทะเลอันดามัน ครอบคลุมประเด็นการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ที่อยู่ในสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Critical species) อนุรักษ์ระบบนิเวศที่สำคัญและมีความเปราะบาง (Critical places) การลดผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Ecological Footprint) 

ทั้งนี้ WWF ประเทศไทย ยังให้ความสำคัญกับกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา และ การอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพ ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานอันมั่นคงสำหรับการทำงานด้านอนุรักษ์อย่างมีประสิทธิผลด้วย