มหัศจรรย์ลุ่มน้ำโขง

บทนำ

   
    ในปี พ.ศ.2557 ที่ผ่านมามีชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่ถูกค้นพบในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งสิ้น 139 ชนิดพันธุ์ โดยแบ่งออกเป็น พันธุ์พืช 90 ชนิดพันธุ์, สัตว์เลื้อยคลาน 23 ชนิดพันธุ์, สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 16 ชนิดพันธุ์, ปลา 9 ชนิดพันธุ์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีก 1 ชนิดพันธุ์

    ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอันประกอบด้วยประเทศกัมพูชา ประเทศลาว ประเทศเมียนมาร์ ประเทศเวียดนาม และประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตหลากหลาย อาทิ โลมาอิรวดีที่แหวกว่ายในแม่น้ำโขง ช้างป่าและเสือโคร่งต่างก็อาศัยอยู่ในผืนป่าของประเทศไทย และนกช้อนหอยยักษ์เดินย่องหาแหล่งน้ำอยู่ทั่วที่ราบทางตะวันออกของประเทศกัมพูชา กล่าวได้ว่าภูมิภาคลุ่มน้ำโขงแห่งนี้คือบ้านของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 430 ชนิดพันธุ์ สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกอีกกว่า 800 ชนิดพันธุ์ นกกว่า 1,200 ชนิดพันธุ์ ปลากว่า 1,100 ชนิดพันธุ์ และพันธุ์พืชอีกกว่า 20,000 ชนิดพันธุ์ ในทุกปี นักวิทยาศาสตร์จะระบุชนิดพันธุ์ใหม่ๆ ที่ได้รับการค้นพบเพิ่มขึ้นและระบุถึงจำนวนชนิดพันธุ์ที่ยังคงรอการค้นพบ โดยในระหว่างปี พ.ศ.2540 ถึง พ.ศ.2557 มีชนิดพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการค้นพบมากถึง 2,216 ชนิดพันธุ์

    สิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ใหม่ที่ถูกค้นพบภายในปีพ.ศ.2557 ที่โดดเด่น ได้แก่ ต่อ: Soul-sucking “dementor” wasp, กบ: Color-changing thorny frog, งูปล้องฉนวน: Stealthy wolf snake, สัตว์เลื้อยคลานชนิดพันธุ์ที่หนึ่งหมื่นที่ถูกค้นพบในโลก, ค้างคาว:  Long-fanged bat, กะท่างชนิดพันธุ์ใหม่, ปะการังขนนก, ผีเสื้อกลางคืนสิรินธรชนิดพันธุ์ใหม่ 4 ชนิดพันธุ์, แมลงที่มีขนาดยาวเป็นอันดับสองของโลก และกล้วยไม้ชนิดพันธุ์ใหม่สองชนิดพันธุ์ที่ถูกพบในตลาดค้าพันธุ์พืช

    ความหลากหลายทางชีวภาพอันน่าทึ่งนี้เป็นรากฐานสำคัญสำหรับผู้คนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงเป็นแหล่งกำเนิดปลาในปริมาณที่สูงถึง 2.6 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25 ของการจับปลาน้ำจืดทั่วโลก นอกจากนี้ยังช่วยเติมเต็มความอุดมสมบูรณ์ให้กับไร่นาด้วยตะกอนดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ ป่าไม้และพื้นที่ชุ่มน้ำเองก็เป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญให้กับการอุตสาหกรรม ช่วยกรองน้ำและฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ รวมถึงการปกป้องเมืองต่างๆ จากภัยธรรมชาติอย่างอุทกภัยและวาตภัย ผู้คนประมาณร้อยละ 80 จากทั้งหมด 300 ล้านคนในภูมิภาคนี้ ต่างพึ่งพาอาศัยระบบธรรมชาตินี้โดยตรงในเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร วิถีชีวิต และประเพณีวัฒนธรรม

    แต่ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญเหล่านี้กำลังถูกคุกคาม ลุ่มน้ำโขงเป็นหนึ่งในห้าจุดที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่ถูกคุกคามมากที่สุดในโลกโดยอ้างอิงจาก Critical Ecosystem Partnership Fund โดยโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังงานน้ำเป็นตัวการสำคัญที่คุกคามความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง ในปลายปีนี้การก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาวจะก่อให้เกิดการกีดขวางกระแสน้ำของแม่น้ำโขงตอนล่างเป็นครั้งแรก กีดขวางทิศทางการว่ายของปลาตามธรรมชาติและการไหลของตะกอนดิน ชุมชนที่อาศัยอยู่ปลายน้ำต่างแสดงความเห็นต่อต้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮงที่การก่อสร้างใกล้จะเกิดขึ้นใกล้ชายแดนกัมพูชาโดยเขื่อนดอนสะโฮงเป็นหนึ่งใน 11 เขื่อนที่มีแผนจะถูกสร้างเพิ่มขึ้นอันอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับแม่น้ำโขงอย่างถาวร นอกจากนี้ แผนการพัฒนาถนนและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ผ่านพื้นที่ป่าในภูมิภาคนี้จะทำให้เกิดการแบ่งแยกของถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าออกเป็นส่วนๆ และทำให้มนุษย์เข้าถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของซาวลา สัตว์ป่าหายากฉายายูนิคอร์น แห่งเอเชีย และสัตว์ป่าอื่นๆ ที่ใกล้สูญพันธุ์ได้ง่ายขึ้น ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นกำลังส่งผลกระทบต่อภูมิประเทศจากอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล พายุ ภัยแล้ง และอุทกภัยที่รุนแรง

    WWF จึงได้ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนของลุ่มแม่น้ำโขง โดยอยู่บนพื้นฐานของระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ งานของพวกเราคือการเป็นผู้นำในความพยายามปกป้องชนิดพันธุ์ต่างๆ การช่วยเหลือภาคธุรกิจในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนและการส่งเสริมการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนร่วมกับการจัดการผลิตภัณฑ์จากป่าที่ไม่ใช่เนื้อไม้ รวมทั้งการช่วยเหลือชุมชนและภาครัฐในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและส่งเสริมการจัดการทรัพยากรน้ำจืดอย่างยั่งยืน

    การสำรวจทางวิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญในอนาคตของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นอย่างมาก เพราะการค้นพบชนิดพันธุ์ใหม่ที่น่าหลงใหลหลากชนิดพันธุ์ในปี พ.ศ.2557 นี้สามารถดึงดูดความสนใจในการอนุรักษ์ให้กับภูมิภาคนี้ได้มากขึ้น ในขณะที่ความเข้าใจเชิงลึกในเรื่องของรูปแบบและการกระจายของความหลากหลายทางชีวภาพเองก็สามารถช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรเพื่อการอนุรักษ์สอดคล้องกับพื้นที่ที่มีความสำคัญสูง
 

สัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่โดดเด่นชนิดใหม่ในการค้นพบครั้งนี้

ผีเสื้อกลางคืนสิรินธร (Thai “Princess” moths)

© Nantasak Pinkaew

The thorny tree frog, Gracixalus lumarius

© Jodi Rowley / Australian Museum

The Mekong River winding through the flooded forest in Cambodia.

© WWF Greater Mekong

ผีเสื้อกลางคืนสิรินธร (Thai “Princess” moths)

© Nantasak Pinkaew

Color-changing thorny frog

© Jodi Rowley / Australian Museum

1.ต่อ: Soul-sucking “dementor (Ampulex dementor) 

     ต่อชนิดพันธุ์หนึ่งที่สามารถสะกดจิตใต้สำนึกและสติของเหยื่อได้ด้วยการต่อยเพียงครั้งเดียวก่อนที่จะกินเหยื่อทั้งเป็นนั้นฟังดูเหมือนสัตว์ประหลาดที่หลุดออกมาจากนิยายแฟนตาซีจนทำให้ผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติเบอร์ลิน (Museum für Naturkunde – MfN) ถึงกับโหวตตั้งชื่อให้กับต่อชนิดพันธุ์ดังกล่าวว่า Ampulex dementor ตามตัวละคร “ผู้คุมวิญญาณ” จากนวนิยายชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์

     ต่อ Soul-sucking “dementor (Ampulex dementor) นี้ล่าแมลงสาบเป็นอาหาร โดยจะทำการฉีดพิษเข้าไปในกลุ่มเซลล์ประสาทบนหน้าท้องของเหยื่อ ซึ่งจะทำให้เหยื่อกลายเป็นเหมือนศพที่ยังคงมีชีวิต เพราะพิษนี้จะทำหน้าที่เพียงยับยั้งการทำงานของตัวรับสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า “Octopamine” ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของเหยื่อ ทำให้แมลงสาบยังคงสามารถเคลื่อนไหวได้ แต่จะไม่สามารถควบคุมร่างกายของตนได้สมบูรณ์ เมื่อเหยื่อสูญเสียการควบคุมร่างกายของตัวเองแล้ว ต่อชนิดนี้จะทำการลากเหยื่อด้วยหนวดไปยังสถานที่ที่ปลอดภัยเพื่อกัดกินมันในที่สุด

     กลวิธีในการล่าเหยื่ออันแปลกประหลาดของมันนี้เองที่ดึงดูดความสนใจจากผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติเบอร์ลิน (MfN) อย่างมากระหว่างช่วงแคมเปญโหวตเพื่อตั้งชื่อตัวต่อชนิดนี้ และหลังจากสิ้นสุดและได้ชื่ออย่างเป็นทางการ ผู้เยี่ยมชมต่างพากันพูดว่าพวกเขารู้สึกผูกพันกับต่อตัวนี้จากชื่อของมันและมีแรงจูงใจในการสำรวจความลับของธรรมชาติมากขึ้นอีกด้วย

     ความผูกพันกับธรรมชาตินี้เป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับการอนุรักษ์ เพราะถึงแม้ว่าโลกของเรากำลังได้รับผลกระทบจากการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไปมาก แต่กลับดูเหมือนว่าปัญหาเหล่านี้ถูกตัดขาดออกจากความสนใจของผู้คนทั่วไปโดยสิ้นเชิง การให้โอกาสผู้เยี่ยมชมในการมีส่วนร่วมตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ใหม่ๆ นี้ จึงมีส่วนช่วยในการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างคนเมืองกับธรรมชาติอันแปลกประหลาดไปจากชีวิตประจำวันของพวกเขาได้ โดย ดร.ไมเคิล โอล หนึ่งในนักวิจัยผู้จัดกิจกรรมตั้งชื่อนี้กล่าวว่า “ผมเชื่อว่ากิจกรรมแบบนี้จะช่วยเพิ่มความอยากรู้อยากเห็นของคนต่อสัตว์ท้องถิ่น สัตว์ทั่วโลก และธรรมชาติได้เป็นอย่างดี”

     นอกจากนี้การรับรู้ของคนต่อธรรมชาติเองก็มีผลกระทบต่อโลกแห่งความเป็นจริงเช่นกัน การที่ผู้คนมีทัศนคติที่ดีขึ้นต่อสิ่งมีชีวิตที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเมินเฉยหรือถูกรังเกียจอาจนำไปสู่การเรียกร้องให้มีการจัดการงานอนุรักษ์ที่ดีขึ้นได้
Ampulex dementor

© Michael Ohl / Museum fuer Naturkunde

Ampulex dementor.

© Michael Ohl / Museum fuer Naturkunde

2.แมลงที่มีขนาดยาวเป็นอันดับสองของโลก (World’s second-longest insect) 


    ด้วยความยาวถึง 54 เซนติเมตรโดยวัดจากขาหลังถึงส่วนหัว ทำให้ Phryganistria heusii yentuensis subsp. nov. ได้ครองตำแหน่งเป็นแมลงที่มีขนาดยาวเป็นอันดับสองของโลก แต่มันก็อาจจะอยู่ในตำแหน่งนี้ได้ไม่นานนัก เจอโรม คอนสแตนท์ หัวหน้าคณะสำรวจที่ค้นพบแมลงตัวนี้ และสัตว์ชนิดพันธุ์อื่นๆ ได้กล่าวว่า “ปีที่แล้ว มีการระบุชนิดแมลงสามตัวที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเราคิดว่ามันจะต้องมีมากกว่านี้อย่างแน่นอน ในตอนนี้เราพบตั๊กแตนกิ่งไม้ (Stick insects) ชนิดพันธุ์ใหม่มากกว่า 150 ชนิดพันธุ์จากเวียดนามเพียงแห่งเดียวภายหลังจากการออกสำรวจไม่กี่ครั้ง แล้วลองคิดดูสิว่าจะยังมีชนิดพันธุ์ที่ยังไม่ถูกค้นพบอีกมากมายขนาดไหน”

    แมลงขนาดใหญ่เหล่านี้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางพวกเรา และหนึ่งในชนิดพันธุ์ขนาดยักษ์ (Phryganistria tamdaoensis Bressel & Constant 2014) เพิ่งถูกค้นพบในเมืองตามด๋าว ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ในประเทศเวียดนาม โดย P. heusii yentuensis เพศเมียที่ทำลายสถิติตัวนี้ถูกพบห่างจากหมู่บ้านและทุ่งนาห่างเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น เพื่อหาแมลงตัวนี้ คอนสแตนท์และคณะต้องออกสำรวจในตอนกลางคืนพร้อมกับไฟฉายสวมหัว กระบอกไฟฉาย และสายตาที่ฝึกมาอย่างดี (ร่วมกับการเขย่ากิ่งไม้เป็นครั้งคราว) เพื่อให้สามารถระบุตำแหน่งและเก็บตัวอย่างแมลงที่หลับอยู่ได้

    เมื่อเก็บตัวอย่างเรียบร้อยแล้ว งานยากของจริงในการระบุชนิดพันธุ์ก็เริ่มต้นขึ้น แม้ว่ามันจะมีความเรียบง่ายทางโครงสร้างที่คล้ายกัน แต่ชนิดพันธุ์ของตั๊กแตนกิ่งไม้นั้นยากที่จะระบุ ทั้งนี้เพราะความแตกต่างในแต่ละเพศ แต่นับเป็นโชคดีของนักวิจัย ที่ตั๊กแตนกิ่งไม้นั้นง่ายต่อการเพาะเลี้ยงในที่เฉพาะเพื่อสังเกตการณ์และทั้งไข่และแมลงเพศเมียนั้นสามารถให้ข้อมูลในการจำแนกที่สำคัญได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการสร้างเครือข่ายวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง คอนสแตนท์และทีมของเขาจึงได้ทำงานร่วมกับอาสาสมัครในชุมชนที่มีความสนใจในพลาสมิดเพื่อผสมพันธุ์ เลี้ยง และสังเกตการณ์ตั๊กแตนกิ่งไม้เพื่อหาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปใช้ในการอธิบายชนิดพันธุ์ คอนสแตนท์ กล่าวว่า “มีงานอีกมากที่ต้องทำ แต่มีคนทำน้อยลงไปทุกที” แม้จะมีอุปสรรคเรื่องการสนับสนุนเงินทุนการวิจัยทั่วโลก ร่วมกับความยากลำบากในการเข้าถึงสถานที่เก็บตัวอย่าง แต่ความร่วมมือในรูปแบบวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง และการร่วมมือกันทางวิทยาศาสตร์อย่างเปิดกว้างนี้ได้ช่วยให้นักอนุกรมวิธานมีความก้าวหน้าในการค้นพบความหลากหลายทางชีวภาพท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ที่ต้องเผชิญ
Phyrganistria heussi yentuensis, the world's second longest insect with discoverer Joachim Bresseel.

© Jerome Constant

Phryganistria heusii yentuensis, the world's second longest insect.

© Jerome Constant

3.กล้วยไม้สองชนิดพันธุ์ใหม่ [ไม่เปิดเผยชื่อ]

    กล้วยไม้สองชนิดพันธุ์ใหม่ถูกค้นพบระหว่างการสำรวจการค้าไม้ดอกไม้ประดับป่าผิดกฎหมาย ที่ผ่านมามีประวัติมาอย่างยาวนานเกี่ยวกับการค้นพบทางพฤกษศาสตร์ผ่านการค้าพันธุ์พืช แต่ ดร.จาค็อบ เฟลป์ส เกือบไม่ได้เผยแพร่การค้นพบนี้เพราะกลัวว่าความสนใจของสังคมที่เกิดขึ้นจะนำมาซึ่งการสูญพันธุ์ของกล้วยไม้สองชนิดพันธุ์ดังกล่าว

    การระบุชนิดพันธุ์อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ได้หรือไม่?

    บางครั้งการระบุชนิดพันธุ์ใหม่อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะเมื่อชนิดพันธุ์หนึ่งได้ถูกจัดว่าหายากแล้ว นักสะสมของป่าที่ให้คุณค่ากับความแปลกใหม่จะรีบหาทางให้ได้ตัวอย่างนั้นมาอยู่ในครอบครอง ส่งผลให้การค้าขายชนิดพันธุ์นั้นสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ความพยายามในการค้นหาและสะสมอาจส่งผลคุกคามอย่างร้ายแรงต่อชนิดพันธุ์ใหม่ที่ถูกบันทึก

    ดร.จาค็อบ เฟลป์ส นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมาย ผู้ค้นพบกล้วยไม้สองสายพันธุ์นี้กล่าวว่า “เมื่อชนิดพันธุ์ที่ตกเป็นเป้าหมายกระจายอยู่ในวงแคบหรือมีจำนวนไม่มาก นั่นก็อาจส่งผลเสียร้ายแรงในเชิงอนุรักษ์ได้”

    ในกรณีของกล้วยไม้ Bulbophyllum kubahense จากประเทศมาเลเซียที่ถูกบันทึกเมื่อเร็วๆนี้นั้นทำให้สื่อมวลชนให้ความสนใจเกี่ยวกับมันในฐานะกล้วยไม้ชนิดพันธุ์ใหม่ เกิดการยกระดับจากกล้วยไม้ธรรมดาเป็นกล้วยไม้ที่ “ต้องมี” สำหรับนักสะสมพันธุ์ไม้หายาก ส่งผลให้ราคาของกล้วยไม้ในตลาดประมูลออนไลน์พุ่งสูงขึ้นจากหลักสิบเป็นหลายร้อยดอลลาร์ และแน่นอนว่าทำให้เกิดแรงจูงใจมหาศาลสำหรับนักเก็บเกี่ยวพันธุ์ไม้ป่าให้หากล้วยไม้เหล่านี้มาขายมากยิ่งขึ้น

    เพื่อปกป้องชนิดพันธุ์ที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์บางคนจึงได้ระงับการให้ข้อมูลบางอย่าง เช่น แหล่งที่อยู่ของชนิดพันธุ์นั้น เพื่อเป็นการปกป้องกล้วยไม้เหล่านี้จากนักสะสม อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ไม่เป็นผลสำหรับชนิดพันธุ์ที่อยู่ในตลาดการค้าที่มีการจัดตั้งเครือข่ายการซื้อขายที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว ดังนั้นในกรณีเช่นนี้จะเป็นการดีกว่าหรือไม่หากชนิดพันธุ์เหล่านี้จะไม่ถูกระบุไว้เลย?

    แต่ในหลายๆครั้ง การไม่ให้ความสนใจเองก็สร้างความเสี่ยงให้กับชนิดพันธุ์นั้นๆ เช่นกัน ดร.โจดี โรว์ลีย์ นักชีววิทยาสมาชิก IUCN Amphibian Red List Authority กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “พูดกันง่ายๆ มันยากมากที่จะอนุรักษ์บางอย่างที่เราไม่รู้ว่ามันมีอยู่ด้วยซ้ำ แต่หากชนิดพันธุ์หนึ่งถูกทำให้เป็นที่รู้จักในวงการวิทยาศาสตร์แล้ว เราอาจใช้สิ่งที่เรามีเพื่ออนุรักษ์มันไว้ได้หากมีความจำเป็น” การระงับการเผยแพร่อาจช่วยลดปริมาณความต้องการชนิดพันธุ์นั้นๆ ในตลาดลง แต่ไม่ได้ช่วยปกป้องชนิดพันธุ์นั้นโดยสมบูรณ์ตามที่ได้แสดงให้เห็นจากการค้นพบชนิดพันธุ์ใหม่ๆ ผ่านการค้าที่ผ่านมา การยอมรับชนิดพันธุ์นั้นๆ อย่างเป็นทางการจะนำมาซึ่งการคุ้มครองทางกฎหมายมากกว่า

    ดร.เฟลป์สหวังว่านักอนุกรมวิธานจะพิจารณาปัญหาเหล่านี้ในระหว่างการตั้งชื่อชนิดพันธุ์ใหม่ๆ “โดยปกติในขอบเขตงานของเรา มักจะไม่ได้กลับมาพิจารณาเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการอนุรักษ์” การพิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการอนุรักษ์ก่อนการเผยแพร่ข้อมูลจะช่วยเพิ่มโอกาสแก่นักวิจัยในการทำงานร่วมกับองค์กรอนุรักษ์และหน่วยงานภาครัฐและลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้
orchid

© JACOB PHELPS

...

พูดกันง่ายๆ มันยากมากที่จะอนุรักษ์บางอย่างที่เราไม่รู้ว่ามันมีอยู่ด้วยซ้ำ แต่หากชนิดพันธุ์หนึ่งถูกทำให้เป็นที่รู้จักในวงการวิทยาศาสตร์แล้ว เราอาจใช้สิ่งที่เรามีเพื่ออนุรักษ์มันไว้ได้หากมีความจำเป็น

ดร.โจดี โรว์ลีย์

...

เมื่อชนิดพันธุ์ที่ตกเป็นเป้าหมายกระจายอยู่ในวงแคบหรือมีจำนวนไม่มาก นั่นก็อาจส่งผลเสียร้ายแรงในเชิงอนุรักษ์ได้

ดร.จาค็อบ เฟลป์ส ผู้ค้นพบกล้วยไม้สองสายพันธุ์นี้

4.กบ: Color-changing thorny frog

    เมื่อ ดร.โจดี โรว์ลีย์ เห็นภาพถ่ายของ “กบห่มกระดาษทราย” ที่ เล ถิ ถวี เซือง และ เดา กวาง วินห์ ลูกศิษย์ของเธอในขณะนั้นถ่ายมาได้จากในป่า เธอก็รู้ทันทีว่าพวกเขาค้นพบสิ่งมีชีวิตที่มีเอกลักษณ์เข้าให้แล้ว เธอกล่าวว่า “ทันทีที่ฉันเห็นหนามบนหลังของกบตัวผู้ตัวนั้น ฉันก็รู้ทันทีว่ามันแตกต่างจากกบทุกตัวที่ฉันเคยพบเห็นมา”

    จนกระทั่งปีต่อมาที่เธอและลูกศิษย์ทั้งสองได้กลับไปที่ป่าบนเทือกเขาที่ห่างไกลทางตอนกลางของเวียดนามที่ ดร.โรว์ลีย์ ได้เห็นกบหนามต้นไม้นี้กับตาตัวเองเป็นครั้งแรก โดยกบตัวแรกที่พวกเขาพบเป็นกบตัวผู้ที่ถูกล้อมรอบด้วยไข่อยู่ในโพรงต้นไม้ นั่นทำให้มันกลายเป็น 1 ใน 2 เปอร์เซ็นต์ของชนิดพันธุ์กบทั่วโลกที่วางไข่ใน “Phytolem” หรือแอ่งน้ำในโพรงของพืช โดยเมื่อไข่ฟักออกมา ลูกอ๊อดจะตกลงไปในแอ่งน้ำในโพรงไม้ที่พวกมันสามารถเติบโตได้อย่างปลอดภัยจากนักล่าส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีขนาดใหญ่กว่า

    กบตัวเต็มวัยจะมีสีสันที่โดดเด่นด้วยสีเหลืองและชมพูในตอนกลางคืน แต่ในตอนกลางวันสีเหลืองบนหลังของมันจะจางลงเป็นสีน้ำตาลเข้ม ส่วนสาเหตุและกระบวนการในการเปลี่ยนสีนั้นยังไม่แน่ชัด แต่การเปลี่ยนแปลงแบบนี้นั้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติ โดย ดร.โรว์ลีย์ ได้อธิบายว่า “กบหลายชนิดพันธุ์สามารถเปลี่ยนสีของมันได้ตามช่วงเวลาของวัน อุณหภูมิในแต่ละวัน หรือแม้กระทั่งอารมณ์ของตัวมันเอง”

    สิ่งที่แปลกยิ่งกว่านั้นคือหนามซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “Color-changing thorny frog” ของมัน เพราะบนหลังของกบตัวผู้จะถูกปกคลุมด้วยหนามทรงกรวยสีขาวทำให้มันดูเหมือนกระดาษทรายที่ดึงความสนใจของเซืองและวินห์ไว้ได้ในตอนแรก และด้วยความที่เฉพาะกบเพศผู้เท่านั้นที่มีหนามนี้ ดร.โรว์ลีย์จึงคาดว่าหนามเหล่านี้อาจจะใช้ในการหาคู่ของพวกมัน โดยกบตัวเมียอาจจะเลือกผสมพันธุ์กับกบตัวผู้โดยดูจากขนาดและปริมาณของหนามก็เป็นได้
Color-Changing Thorny Frog

© JODI ROWLEY / AUSTRALIAN MUSEUM

...

ทันทีที่ฉันเห็นหนามบนหลังของกบตัวผู้ตัวนั้น ฉันก็รู้ทันทีว่ามันแตกต่างจากกบทุกตัวที่ฉันเคยพบเห็นมา

ดร.โจดี โรว์ลีย์

The thorny tree frog, Gracixalus lumarius

© Jodi Rowley / Australian Museum

5.ค้างคาว: Long-fanged bat

    ยิ้มสิ! เขี้ยวอันน่าประทับใจของค้างคาวที่ชื่อ Long-fanged bat หรือที่แปลว่า “เขี้ยวยาว” นี้ ทำให้มันถูกแยกออกจากชนิดพันธุ์ใกล้เคียงเพราะเขี้ยวของมันนั้น “เห็นได้ชัดเจนจากการมองเพียงครั้งเดียว” จากคำกล่าวของ ทามัส กอร์ฟอลหนึ่งในนักวิจัยที่ตั้งชื่อค้างคาวชนิดพันธุ์นี้

    เขี้ยวที่มีขนาดใหญ่พิเศษนี้อาจวิวัฒนาการขึ้นเพื่อให้ Hypsugo dolichodon สามารถล่าแมลงที่มีขนาดใหญ่และมีเปลือกแข็งได้มากกว่าชนิดพันธุ์อื่นๆ ที่มีเขี้ยวเล็กกว่า ซึ่งอาจทำให้ต่อไปค้างคาวชนิดพันธุ์นี้สามารถพัฒนาและหลุดพ้นจากระบบนิเวศเดิมของมันได้โดยการเลือกกินเหยื่อที่แตกต่าง จนถึงการหาแหล่งที่อยู่อาศัยที่แตกต่างไปจากชนิดพันธุ์ใกล้เคียงกับมันได้ ถึงแม้ว่า H. dolichodon จะถูกค้นพบจากสามแหล่ง ทั้งในลาวและกัมพูชา แต่แหล่งที่อยู่อาศัยของมันยังคงเป็นปริศนา เพราะกอร์ฟอลคิดว่า มันอาจจะอยู่ในถ้ำเหมือนกับชนิดพันธุ์ใกล้เคียงอื่นๆ หรืออาจอาศัยอยู่ตามป่าก็ได้ทั้งนั้น

    “Long-fanged bat” เป็นค้างคาวชนิดพันธุ์เดียวที่ถูกตั้งชื่อขึ้นในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงในปี 2557 ที่ผ่านมาและยังมีชนิดพันธุ์อื่นที่รอการตั้งชื่ออยู่อีกมาก เพียงแค่เฉพาะพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติของฮังการีเพียงแห่งเดียวก็มีค้างคาวอีกกว่า 10 ชนิดพันธุ์ที่รอการระบุชนิดพันธุ์ ดังนั้นจึงอาจต้องใช้เวลานานหลายปีสำหรับสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ใหม่ๆ ในการระบุอย่างเป็นทางการ เนื่องจากต้องเปรียบเทียบชนิดพันธุ์ที่ใกล้เคียงกันอย่างละเอียด รวมทั้งทำการวิเคราะห์ในระดับพันธุกรรมและเปรียบเทียบทางกายภาพกับตัวอย่างที่ถูกกระจายตัวไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลกด้วย

    อย่างไรก็ตาม มีโอกาสที่ค้างคาวชนิดพันธุ์นี้จะสูญพันธุ์ไปแม้จะเพิ่งถูกค้นพบและตั้งชื่อเพราะพื้นที่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าเป็นห่วงจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วซึ่งทำให้ที่หลบภัยของค้างคาวเหล่านี้เหลือน้อยลงเรื่อยๆ หนึ่งในถ้ำและป่าที่เป็นที่อยู่อาศัยของ H.dolichodon ในประเทศลาวกำลังถูกคุมคามจากการสร้างเขื่อนและการทำเหมืองแร่ และการสูญเสียค้างคาวนี้จะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ เนื่องจากสัตว์กินแมลงอย่างค้างคาวชนิดนี้จะช่วยควบคุมจำนวนประชากรแมลงให้สมดุล และค้างคาวที่กินผลไม้จะทำให้ป่ามีชีวิตจากการกระจายเมล็ดพันธุ์พืชและเกสรดอกไม้ได้เช่นกัน
Hypsugo dolichodon, the long-toothed pipistrelle.

© Judith L. Eger

...

เขี้ยวอันน่าประทับใจของค้างคาวที่ชื่อ Long-fanged bat หรือที่แปลว่า “เขี้ยวยาว” นี้ ทำให้มันถูกแยกออกจากชนิดพันธุ์ใกล้เคียงเพราะเขี้ยวของมันนั้น “เห็นได้ชัดเจนจากการมองเพียงครั้งเดียว”

ทามัส กอร์ฟอลหนึ่งในนักวิจัยที่ตั้งชื่อค้างคาวชนิดพันธุ์นี้

6.งูปล้องฉนวน: Stealthy wolf snake 

    ด้วยความสามารถในการพรางตัว อาศัยอยู่บนต้นไม้ และออกหากินเฉพาะในเวลากลางคืน ทำให้งูปล้องฉนวน Stealthy wolf snake Zoos Victoria นี้หลุดรอดสายตาการสำรวจตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีการศึกษาสัตว์เลื้อยคลานในเขตกัมพูชาอย่างเข้มข้น นอกจากนี้ยังพบเจอได้ยาก เพราะจากสัตว์เลื้อยคลานทั้ง 22 ชนิดพันธุ์ที่เก็บได้ระหว่างการสำรวจภาคสนามในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมสมโกศนั้น นักวิจัยพบตัวอย่างของชนิดพันธุ์ใหม่นี้เพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้น แต่ตัวอย่างเดียวนี้กลับสามารถทำให้ระบุได้ทันทีว่าเป็นงูชนิดพันธุ์ใหม่ในวงการวิทยาศาสตร์ด้วยลวดลายแบบ “ค้างคาวบิน” อันเป็นเอกลักษณ์ของมัน “ไม่มีงูปล้องฉนวนชนิดใดที่มีลวดลายเช่นนี้” ถี เนียง หัวหน้าทีมสำรวจภาคสนามที่ค้นพบงูชนิดพันธุ์นี้กล่าว

    เรายังรู้จักงูลึกลับชนิดนี้ไม่มากนัก นอกจากเขี้ยวยาวแต่ไม่มีพิษในกรามทั้งคู่ของมันสำหรับการล่ากบและกิ้งก่าขนาดเล็กซึ่งเป็นอาหารจานหลักของงูปล้องฉนวนทั่วๆ ไป และพฤติกรรมของมันที่จะออกล่าเหยื่อเฉพาะในเวลากลางคืน ด้วยลวดลายที่กลมกลืนไปกับเปลือกไม้และมอสในป่าบนทิวเขาคาร์ดามอม แม้ว่าการพรางตัวดูเหมือนจะเป็นวิธีป้องกันตัวอันดับต้นๆ ของมัน แต่หาก L. zoosvictoriae นี้ถูกคุกคาม มันก็จะป้องกันตัวมันเองอย่างเต็มที่ โดยการฉกศัตรูอย่างรวดเร็วซ้ำๆ สั่นหางของมันเหมือนกับงูหางกระดิ่ง หรือซ่อนศีรษะในวงขดลำตัวของมัน

    ถิ่นที่อยู่อาศัยของงูชนิดนี้ในป่าบนทิวเขาคาร์ดามอมนั้นกำลังถูกคุกคามจากถนนที่รุกล้ำเข้ามาในป่า ซึ่งอาจทำให้เกิดการลักลอบตัดไม้ ลักลอบล่าสัตว์ป่า หรือการรุกล้ำพื้นที่อย่างผิดกฎหมายได้ง่ายขึ้น การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนจึงมีความจำเป็นอย่างมากในการปกป้องพื้นที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่านี้ไว้ เพื่อปกป้องงูปล้องฉนวน Stealthy wolf snake Zoos Victoria และสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดพันธุ์ที่อาศัยอยู่ ณ พื้นที่นี้ทุกชีวิต รวมถึงชนิดพันธุ์ที่ยังไม่ถูกค้นพบด้วยเช่นกัน
The Zoos Victoria wolf snake.

© Thy Neang

Herpetologist Thy Neang at work.

© Ally Catterick / FFI

...

ไม่มีงูปล้องฉนวนชนิดใดที่มีลวดลายเช่นนี้

ถี เนียง หัวหน้าทีมสำรวจภาคสนามที่ค้นพบงูชนิดพันธุ์นี้กล่าว

7.ผีเสื้อกลางคืนสิรินธร (Thai “Princess” moths)

    เพียงเพราะพื้นที่หนึ่งได้ถูกสำรวจไปแล้วไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการค้นพบใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่นเดียวกับที่นางสาวโสภิตา หมวดทรัพย์ และ ผศ.ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้สำรวจสามผืนป่าในประเทศไทยที่ผ่านการสำรวจมาแล้วหลายต่อหลายครั้งเพื่อบันทึกความหลากหลายของผีเสื้อกลางคืน แต่ทั้งสองก็ยังสามารถค้นพบผีเสื้อกลางคืนชนิดพันธุ์ใหม่อีกถึง 4 ชนิดพันธุ์ของผีเสื้อกลางคืนในสกุล Sirindhornia ซึ่งถูกตั้งชื่อขึ้นเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิชัยพัฒนาซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ป่าชุมชนที่เก็บตัวอย่างส่วนใหญ่ได้

    เหล่าผีเสื้อกลางคืนตัวน้อยซึ่งมีปีกยาวเพียง 5 มิลลิเมตรชนิดพันธุ์นี้ได้บันทึกประวัติศาสตร์ผีเสื้อและผีเสื้อกลางคืนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านระบบการสืบพันธุ์ของพวกมัน เนื่องจากอวัยวะสืบพันธุ์ของผีเสื้อกลางคืนจะมีความซับซ้อนในแบบของมันแตกต่างไปตามแต่ละชนิดพันธุ์ เช่น มีตัวหนีบ ปอยขน หนาม หรือซี่ฟัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการสืบพันธุ์ข้ามชนิดพันธุ์ ความหลากหลายทางโครงสร้างเหล่านี้รวมไปถึงปีกของพวกมันทำให้ ผีเสื้อกลางคืนสกุล Sirindhornia นั้นมีความโดดเด่นจากสกุลอื่นแต่ก็ยังคงมีความเชื่อมโยงระหว่างสกุล Anthozela และ Irianassa ด้วยเช่นกัน

    แม้ไม่มีเบาะแสเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การวิวัฒนาการ ผีเสื้อกลางคืนเหล่านี้ก็ยังคงทำหน้าที่ค้ำจุนระบบนิเวศของมัน เพราะผีเสื้อกลางคืนเป็นฐานสำคัญของสายใยอาหาร โดยการเปลี่ยนสารอาหารจากพืชให้กลายเป็นโปรตีนและกลายเป็นอาหารให้กับสัตว์นานาชนิด
Sirindhornia chaipattana, one of the newly discovered

© Nantasak Pinkaew

The moths of the Sirindhornia genus.

© Nantasak Pinkaew

8.ปะการังขนนก (Feathered coral)

    การค้นพบปะการังอ่อนชนิดหนึ่งที่มีหนวดลักษณะคล้ายขนนกใกล้กับเกาะภูเก็ตนั้น แปลกประหลาดพอๆ กับการค้นพบลิงแอฟริกาชนิดพันธุ์ใหม่ในภูมิภาคเอเชีย นั่นเป็นเพราะว่าก่อนหน้านี้ปะการังสกุล Ovabunda นั้นจะพบเฉพาะบริเวณทะเลแดงและทางตะวันตกของมหาสมุทรอินเดียเท่านั้น ทำให้การค้นพบ O.andamanensis ในครั้งนี้ ถือเป็นการเพิ่มสถิติการแพร่พันธุ์ของปะการังสกุลนี้ไกลออกมาจากจุดเดิมถึง 5,000 กิโลเมตร

    เมื่อปะการังชนิดพันธุ์หนึ่งในสกุล Ovabunda ถูกค้นพบในทะเลอันดามัน ทำให้ดูเหมือนว่าปะการังชนิดพันธุ์อื่นๆ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะถูกค้นพบได้ในแถบมหาสมุทรอินเดียเช่นกันเพราะการวิจัยสำรวจปะการังในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้นเมื่อเทียบกับภูมิภาคเขตร้อนอื่นๆ โดยไมเคิล เจนส์ หัวหน้าทีมวิจัยที่ค้นพบปะการัง O. andamanensis นี้กล่าวว่า “เรากำลังให้ความสนใจในการศึกษาและวิจัยแนวปะการัง รวมถึงการบันทึกอนุกรมวิธานในระดับภาครัฐและระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย รวมทั้งกัมพูชาและเวียดนามให้มากขึ้น ซึ่งนี่เป็นสัญญาณที่ดีต่ออนาคตของแนวปะการังในภูมิภาคนี้”
Ovabunda andamanensis colony.

© Michael Janes

A colony of Ovabunda andamanensis.

© Michael Janes

9.กะท่าง (ซาลาแมนเดอร์ขนาดเล็ก) ชนิดพันธุ์ใหม่จากเมียนมาร์ (New crocodile newt from Myanmar)

    กะท่างหรือซาลาแมนเดอร์ขนาดเล็กชนิดพันธุ์ใหม่นี้หลบซ่อนอยู่ในบ่อน้ำเมืองตองยี เมืองหลวงของรัฐฉานในประเทศเมียนมาร์ซึ่งเป็นที่มาของชื่อของกะท่างชนิดพันธุ์นี้ กะท่างชนิดนี้ไม่ได้เป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับคนตองยีแต่มันถูกเข้าใจผิดมานานว่าเป็นอีกชนิดพันธุ์หนึ่งที่มีความใกล้เคียงกัน ซึ่งเมื่อนักวิจัยตรวจสอบอย่างละเอียดก็พบว่า T. shanorum นี้มีหัวที่แบนและสีทึมกว่า และจากการวิเคราะห์ทางพันธุกรรมจึงสามารถยืนยันได้ว่ากะท่างชนิดนี้เป็นสัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่

    ถึงแม้ว่าพวกเราจะเพิ่งเริ่มทำความรู้จักกับพวกมัน แต่กะท่างตัวเล็กอวบอ้วนเหล่านี้กำลังจะหายไป จากคำบอกเล่าของผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นพบว่า การก่อสร้างในบริเวณมหาวิทยาลัยตองยีได้ตัดทางน้ำที่ไหลไปสู่บ่อเพาะพันธุ์กะท่างแหล่งหลักนี้ อันจะนำไปสู่การสูญพันธุ์ของกะท่างในอนาคต อีกทั้งมีกะท่างมากมายที่กำลังดิ้นรนเอาชีวิตรอดจากการพัฒนาของมนุษย์ด้วยเช่นเดียวกัน สถานที่ซ่อนตัวอันร่มรื่นของกะท่างกำลังจะหายไปจากการขยายตัวของเมือง และอีกมากมายที่ถูกรถทับตายในช่วงฤดูอพยพไปมาระหว่างบ่อเพาะพันธุ์ที่เต็มไปด้วยขยะอุดตันเพิ่มมากขั้นเรื่อยๆ

    การจับกะท่างเพื่อค้าขายระหว่างประเทศเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงสำหรับกะท่างชนิดพันธุ์นี้รวมถึงกะท่างทั่วไปในเมียนมาร์ เพราะชนิดพันธุ์ที่ยังไม่ถูกตั้งชื่อและชนิดพันธุ์ที่เพิ่งถูกค้นพบนั้นจะไม่ถูกระบุอยู่ในรายชื่อสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ของระเบียบการค้าระหว่างประเทศ ทำให้สามารถส่งออกได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย กะท่างจากประเทศพม่าถูกขายเพื่อใช้เป็นยาแผนโบราณในประเทศจีนและถูกขายเป็นสัตว์เลี้ยง มี T. shanorum จำนวนไม่น้อยถูกพบในตลาดค้าขายสัตว์เลี้ยง โดยตัวอย่างทั้งสองตัวที่นักวิจัยใช้ในการระบุชนิดพันธุ์กะท่างชนิดนี้นั้นถูกพบในร้านขายสัตว์เลี้ยง ซึ่งสำหรับชนิดพันธุ์ที่มีประชากรไม่มากอย่าง T. shanorum นั้น การมีมันไว้ในครอบครองแม้เพียงตัวเดียว ก็สามารถสร้างความเสียหายต่อชนิดพันธุ์นี้ได้เป็นอย่างมาก
Tylotriton shanorum, the new crocodile newt from Myanmar.

© Tim Johnson

T. shanorum habitat.

© Tim Johnson

10.สัตว์เลื้อยคลานที่ถูกค้นพบเป็นชนิดพันธุ์ลำดับที่ 10,000 ของโลก (10,000th reptile species discovered)

    ตุ๊กกาย (สัตว์เลื้อยคลานชนิดพันธุ์เดียวกับตุ๊กแกแต่มีขนาดเล็กกว่าและมีถิ่นอาศัยอยู่ในป่า)  ชนิดพันธุ์ Cyrtodactylus vilaphongi กระโดดจากหน้าผาหินปูนในประเทศลาวเข้าสู่บันทึกสถิติของโลกในฐานะสัตว์เลื้อยคลานที่ถูกค้นพบเป็นลำดับที่ 10,000 ของโลก จากฐานข้อมูลสัตว์เลื้อยคลาน (The Reptile Database) ที่บันทึกทุกชนิดพันธุ์ของสัตว์เลื้อยคลานที่ถูกค้นพบในโลกในขณะนี้ 

    ตุ๊กกายเป็นราชาแห่งวงศ์จิ้งจกและตุ๊กแก ในปีพ.ศ.2557 มีการค้นพบตุ๊กกายชนิดพันธุ์ใหม่ถึง 16 ชนิดในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้ปัจจุบันมีตุ๊กกายทั้งหมดถึง 197 ชนิดพันธุ์ ในขณะที่ตุ๊กแกชนิดพันธุ์อื่นๆ นั้นมีจำนวนไม่ถึง 15 ชนิดพันธุ์เท่านั้น

    C. vilaphongi ถูกค้นพบในป่าห่างออกไปเพียง 500 เมตรจากไร่ข้าวโพดของชุมชนเท่านั้น ทำให้เราตระหนักได้ว่า เรามีความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์อื่นๆ รอบตัวน้อยมาก อาจมีอีกหลายชนิดพันธุ์ที่กำลังตกอยู่ในอันตราย ทั้งๆ ที่เรายังไม่ทันได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของมันเลยด้วยซ้ำ ในทุกๆ ปี นักวิทยาศาสตร์จะค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ใหม่บนภูมิประเทศแบบคาสต์ในประเทศลาวและเวียดนามในอัตราที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นในประเทศเวียดนาม จำนวนชนิดพันธุ์ Cyrtodactylus เพิ่มขึ้นจาก 5 ชนิดพันธุ์ในปีพ.ศ.2549 เป็น 33 ชนิดพันธุ์ในปีพ.ศ.2557 แต่ในขณะที่นักวิจัยกำลังเริ่มเข้าใจระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพนี้ ระบบนิเวศเหล่านี้กลับกำลังเสื่อมโทรมลงจากการตัดไม้ทำลายป่า การเผาป่าเพื่อเกษตรกรรม รวมถึงการทำเหมืองของมนุษย์

    การวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพมีส่วนสำคัญในการช่วยปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่มีสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ การได้รับรู้เกี่ยวกับความหลากหลายในระบบนิเวศอย่างครบถ้วนยิ่งขึ้นจะส่งผลให้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจดำเนินการปกป้องระบบนิเวศที่มีความสำคัญในเชิงชีววิทยาเหล่านี้ได้อย่างทันท่วงที โดยเจือง กวาง เหงวียนหนึ่งในผู้ค้นพบ C. vilaphongi หวังว่าการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองหลวงพระบางจะช่วยนำไปสู่การจัดตั้งเป็นเขตอนุรักษ์ธรรมชาติได้ต่อไป
Cyrtodactylus vilaphongi

© THY NEANG

Truong Nguyen

© Truong Nguyen

อนาคตของทุกชีวิต: ข้อเสนอแนะ

    อนาคตของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ รวมถึงผู้คนที่อยู่อาศัยในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงนั้นจำต้องพึ่งพาปัจจัยหลายอย่าง ทั้งการปกป้องภัยอันตรายที่เกิดจากพรานป่า การอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า การรักษาให้แม่น้ำคงไหลอย่างอิสระ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างชาญฉลาด และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่มีสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหาเหล่านี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การที่ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมจำต้องยึดมั่นและร่วมมือกันในการสร้าง “เศรษฐกิจสีเขียว*” ให้เกิดขึ้นในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งรวมไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยจัดลำดับความสำคัญของระบบนิเวศทางธรรมชาติให้อยู่ในทุกขั้นตอนการตัดสินใจเพื่อให้มนุษย์รุ่นลูกรุ่นหลานและสัตว์ป่ารุ่นต่อมาได้ใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางธรรมชาติสืบไป

    ที่ผ่านมา รัฐบาลต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อันประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ไทย เวียดนาม และมณฑลยูนนานในประเทศจีนได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะร่วมกันสนับสนุน “การพัฒนาเพื่อระบบเศรษฐกิจสีเขียวอย่างสมดุลและเท่าเทียม” เพื่อลดปัญหาความยากจน การสูญเสียทางความหลากหลายทางชีวภาพ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
    
    ด้วยเหตุนี้ WWF จึงทุ่มเทเพื่อเชื่อมการทำงานระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมให้เป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าว โดยเริ่มตั้งแต่การวางแผนโครงสร้างพื้นฐานสู่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน รวมถึงการจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำและภูมิประเทศโดยเน้นสัตว์ป่าเป็นศูนย์กลาง ซึ่ง WWF-Greater Mekong ได้ริเริ่มเศรษฐกิจสีเขียวนี้จากความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงการจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติในภูมิภาคนี้โดย WWF สนับสนุนนโยบายที่ส่งเสริมต่อเศรษฐกิจสีเขียวต่างๆ เช่น นโยบายการลงทุนเพื่อการพัฒนาการผลิตแบบอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืน นโยบายการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน และการปฏิรูปนโยบายการสนับสนุนทางการเงินต่อกิจกรรมที่สร้างความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมด้วยการทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจหลักเพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะได้รับข้อมูลเพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมายทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ

    โดยพื้นฐานแล้ว เศรษฐกิจสีเขียว หมายถึงการสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการของมนุษย์กับธรรมชาติ ในขณะที่ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกำลังพัฒนา วิธีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์จึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อการช่วยเหลือมนุษย์และสัตว์ป่าให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยเชื่อมต่อพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงแทนการแบ่งแยกออกจากกัน การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพยังรวมถึงการยุติการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย การลงทุนเพื่อป้องกันการลักลอบล่าสัตว์ การหยุดยั้งความต้องการผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย และการเปิดช่องทางการประกอบอาชีพอื่นๆ ที่ยั่งยืนสำหรับพรานป่า เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สิ่งนี้เองคือการมอบอำนาจให้กับประชาชนและภาคธุรกิจในการตัดสินใจยุติการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ที่จะส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมลงและสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ที่จะแบ่งปันผลประโยชน์ทางธรรมชาติได้อย่างเท่าเทียม ทั้งเพื่อลดปัญหาความยากจนและการขาดแคลนทางระบบนิเวศ ซึ่งเศรษฐกิจสีเขียวนี้เองจะทำให้เราทุกชีวิต – ทั้งคน สัตว์ป่าและธรรมชาติ – ได้เจริญงอกงามไปด้วยกัน อันรวมถึงสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์อื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการค้นพบอีกด้วย

* “เศรษฐกิจสีเขียวส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์และสร้างความเป็นธรรมในสังคม รวมทั้งมีความสำคัญในการช่วยลดความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและความขาดแคลนในระบบนิเวศ” อ้างอิงจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ผู้ริเริ่มเศรษฐกิจสีเขียว