The WWF is run at a local level by the following offices...
- WWF Global
- Adria
- Argentina
- Armenia
- AsiaPacific
- Australia
- Austria
- Azerbaijan
- Belgium
- Bhutan
- Bolivia
- Borneo
- Brazil
- Bulgaria
- Cambodia
- Cameroon
- Canada
- Caucasus
- Central African Republic
- Central America
- Chile
- China
- Colombia
- Croatia
- Democratic Republic of the Congo
- Denmark
- Ecuador
- European Policy Office
- Finland
'ใจมันรัก'
หนึ่งคำสั้นๆ แต่มากความหมาย
“ใจมันรัก” หนึ่งคำสั้น ๆ จากผู้ชายที่เลือกเดินบนถนนงานอนุรักษ์น้ำจืดกับ WWF กว่า 16 ปี
น้ำเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต พื้นที่ 2 ใน 3 ของโลกถูกปกคลุมด้วยน้ำ แต่ทว่า 97 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำทั้งหมดบนโลกเป็นน้ำทะเลในมหาสมุทร ไม่ใช่น้ำผิวดินที่มนุษย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้
“นักสิทธิ์ สังข์จันทร์” เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส ฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจืด องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) จะพูดถึงสถานการณ์แหล่งน้ำจืดในเมืองไทย ความพยายามของ WWF ในการรักษาแหล่งน้ำจืดร่วมกับหน่วยงายภาครัฐ ภาคธุรกิจ และชุนชนท้องถิ่น และความสุขของเขาในการทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจืด
ทำไมน้ำจืดกำลังจะหายไป?
การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพิ่มปริมาณความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อวิกฤตน้ำทั้งในเมืองและทั่วโลก มิหนำซ้ำการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติยังทวีความรุนแรงมากขึ้น เกิดขึ้นถี่ และยาวนานมากขึ้นในแต่ละครั้ง
แต่ปัจจัยที่ซ้ำเติมการสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือแหล่งกำเนิดน้ำดื่ม-น้ำใช้ คือ โครงการจัดการน้ำที่มุ่งเน้นเพื่อการเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาด้านต่าง ๆ จนมองข้ามคุณประโยชน์ของน้ำในเชิงระบบนิเวศ และความสมดุลย์ทางธรรมชาติ
การจัดการน้ำที่ดีต้องไม่ลืมระบบนิเวศ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โครงการพัฒนาต่าง ๆ ในแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญสายหลักของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การก่อสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า การดูดหิน ดูดทราย ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในแม่น้ำโขงเกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง โดยเฉพาะพื้นที่ท้ายเขื่อน ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่ผิดแผกไปจากธรรมชาติ และซ้ำเติมปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เป็นอยู่ให้รุนแรงมากขึ้น
ปัจจุบัน ในภาคอีสาน มีเพียงแม่น้ำสงครามเพียงสายเดียว ซึ่งที่ไหลผ่านพื้นที่ 5 จังหวัดที่น้ำยังคงสามารถไหลลงสู่แม่น้ำโขงได้อย่างอิสระ โดยไม่มีสิ่งก่อสร้างใดมาขวางกั้น
“ที่นี่เปรียบเสมือนแหล่งกำเนิดชีวิตที่เติมเต็มความอุดมสมบูรณ์ให้กับแม่น้ำโขง มีประชาชนราว 1.5 ล้านคนในลุ่มน้ำพึ่งพาแม่น้ำสายนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่คนที่ได้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้ แต่ที่นี่ยังเป็นบ้านของนกและปลาหลายร้อยชนิด รวมถึงปลาบึกซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่กำลังอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์”
การขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจืด อย่างเป็นรูปธรรมในแม่น้ำสงครามตอนล่าง ซึ่งเป็นสาขาแม่น้ำโขงรองลงมาจากลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำชี เริ่มต้นในปี พ.ศ.2557 โดย โครงการฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง โดย WWF ประเทศไทย ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากธนาคาร HSBC
การขึ้นทะเบียนแม่น้ำสงครามตอนล่างเป็นแรมซาร์ไซต์ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ลำดับที่ 2,420 ของโลก และลำดับที่ 15 ของประเทศไทย ถือความสำเร็จที่น่ายินดี เพราะเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่การทำงานอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำเกิดจากความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
การขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์คือความภาคภูมิใจ แต่ไม่ใช่จุดหมาย
ฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจืด WWF ประเทศไทย กำหนดพื้นที่ทำงานหลัก (Priority Landscape) ใน 2 ลุ่มน้ำสำคัญของประเทศไทย ได้แก่ ลุ่มน้ำโขงตอนกลาง ครอบคลุมทั้งภาคอีสาน และลุ่มน้ำเจ้าพระยา กินพื้นที่ตั้งแต่เมืองปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ ไปจนถึงบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมา ฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจืด WWF ประเทศไทย ได้ดำเนินงานอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจืดไปแล้วกว่า 12 โครงการ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการ อนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญให้มีการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาดและยั่งยืน ทั้งนี้ฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจืดอยู่ระหว่างการขยายพื้นที่การดำเนินงานเพิ่มเติมไปยังลุ่มน้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และลุ่มน้ำโขงเหนือ จังหวัดเชียงรายในช่วงปลายปีปี พ.ศ.2564 นี้
“หลังการขึ้นทะเบียนแม่น้ำสงครามตอนล่างเป็นแรมซาร์ไซต์แล้ว WWF จะยังคงทำในงานพื้นที่ต่อไป รวมทั้งการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่างแบบบูรณาการระยะ 5 ปี (พ.ศ.2561-2565) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งชุมชนในพื้นที่”
ความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ภายใต้ ‘สมาคมพิทักษ์แม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม’ ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวของผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จาก 50 หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ตลอดแม่น้ำสงครามตอนล่างระยะทางรวม 92 กิโลเมตรที่ได้รับการประกาศเป็นแรมซาร์ไซต์ ก็จะเป็น กลไกหนึ่งในการเฝ้าระวัง ดูแลรักษา ฟื้นฟู และบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกับส่วนราชการ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืนผ่านการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การฟื้นฟูป่า การฟื้นฟูสัตว์น้ำ การทำเกษตรยั่งยืน เป็นต้น
แม้งานอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจืดของนักสิทธิ์จะเดินทางเข้าสู่ปีที่ 16 แล้ว แต่สำหรับเขา ถนนอนุรักษ์เส้นนี้ยังคงอีกยาวไกล และเต็มไปด้วยความท้าทาย ซึ่งเขายินดีที่จะยังเดินบนถนนเส้นเดิม
“ผมมีความสุขและภูมิใจกับการทำงานนี้ หากคุณเห็นรอยยิ้มของชาวบ้านที่ไปหาปลาแล้วมีปลากลับมาให้คนที่บ้านได้ทำอาหาร พอเข้าป่ามีเห็ด หน่อไม้ ผักป่านำไปขายเป็นรายได้ มีเงินส่งลูกเรียนหนังสือ คุณจะเข้าใจความรู้สึกผม ผมก็ไม่รู้จะบอกยังไงว่า ทำไมผมยังทำงานนี้อยู่ คงเพราะใจมันรัก”
งานอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจืด เป็นหนึ่งใน 6 เสาหลักของยุทธศาสตร์การทำงานอนุรักษ์ของ WWF ประเทศไทย โดยเน้นการทำงานในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่บางส่วนของภาคเหนือของประเทศไทย และมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับแหล่งน้ำ เพื่อให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสรรพชีวิต ตอบสนองความต้องการในการดำรงชีพได้เหมาะสม รวมทั้งได้รับการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
---------
#WWFThailand
#TogetherPossible