น้ำเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต ถึงแม้ว่าน้ำจะเป็นทรัพยากรหมุนเวียน แต่ 97 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำทั้งหมดบนโลกเป็นน้ำทะเลในมหาสมุทร มีส่วนที่เหลือเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นน้ำจืด ซึ่งหากแบ่งน้ำจืดออกเป็น 100 ส่วน ประมาณ 68.7 ส่วน ถูกกักเก็บในรูปแบบของน้ำแข็ง หิมะ อีก 30.1 ส่วนเป็นน้ำใต้ดิน ประมาณ 0.9 ส่วน เป็นความชื้นในดินและชั้นบรรยากาศ ดังนั้นจึงเหลือน้ำจืดเพียง 0.3 ส่วนเท่านั้นที่เป็นน้ำผิวดินที่มนุษย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ (USGS, 2016)

การกระจายของน้ำบนโลก

© ปรับปรุงจาก http://ga.water.usgs.gov/edu/waterdistribution.html

น้ำจืด
น้ำจืดนับว่าเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อสรรพชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์เรา ทั้งในด้านการอุปโภค บริโภค อุตสาหกรรม การคมนาคม การเกษตร การท่องเที่ยว และนันทนาการ เป็นต้น

แหล่งน้ำจืดที่สำคัญ
  • น้ำแข็ง ได้แก่ น้ำแข็งหรือภูเขาน้ำแข็ง ที่ปกคลุมบริเวณขั้วโลก ธารน้ำแข็ง และหิมะที่ปกคลุมบริเวณยอดภูเขาสูง มีปริมาณ 68.7 เปอร์เซ็นต์ของน้ำจืดบนโลก แม่น้ำที่สำคัญหลายสายของโลก เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำสาละวิน ฯลฯ ก็มีต้นกำเนิดมาจากการละลายของหิมะและธารน้ำแข็งเหล่านี้
  • น้ำใต้ผิวดิน หรือน้ำใต้ดิน เป็นน้ำจืดที่ขังอยู่ในช่องว่างของดินหรือหิน หรือน้ำที่ไหลอยู่ภายในชั้นหินอุ้มน้ำ หรือชั้นน้ำซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำใต้ดิน น้ำใต้ดินเกิดจากการไหลซึมลงชั้นใต้ดินของน้ำผิวดิน กรณีการปล่อยออกตามธรรมชาติของน้ำใต้ดินที่เกินขนาดเก็บกักคือน้ำพุธรรมชาติ และการไหลซึมออกสู่ทะเล น้ำใต้ดินมีปริมาณ 30.1 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำจืดทั้งหมดบนโลก มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำใต้ดินในการสูบขึ้นมาใช้ประโยชน์หรือที่เรียกว่า “น้ำบาดาล” อย่างไรก็ตามแหล่งน้ำใต้ดินอาจกลายเป็นน้ำเค็มได้ หากเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือเกิดจากการชลประทานโดยเฉพาะพื้นที่แถบชายฝั่งทะเลหรือมีชั้นเกลือใต้ดินในปริมาณสูง
  • น้ำผิวดิน ได้แก่ น้ำในแม่น้ำ ลำคลอง ลำธาร ทะเลสาบ แหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น รวมทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นน้ำจืด น้ำผิวดินจะได้รับจากน้ำฟ้าที่ตกลงมาในรูปของฝนและหิมะ และจะหายไปตามธรรมชาติด้วยการระเหย การซึมลงไปชั้นใต้ดิน และการไหลออกสู่ทะเลมหาสมุทร เป็นแหล่งน้ำจืดหลักที่มนุษย์ใช้ประโยชน์ มีปริมาณเพียง 0.3 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณน้ำจืดบนโลก
น้ำจืด

© Chaiya Peng-un/WWF-Thailand

สถานการณ์น้ำจืด

© Chaiya Peng-un/WWF-Thailand

สถานการณ์น้ำจืดในโลกและประเทศไทยในปัจจุบัน
     การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลกในปัจจุบัน รวมทั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกเป็นแรงขับเคลื่อนต่อการเพิ่มปริมาณความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วน ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อวิกฤตน้ำในโลกที่มีความเป็นไปได้สูงในอนาคต นอกจากนี้สภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกเพิ่มสูงขึ้น และระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากการละลายของธารน้ำแข็งบนแผ่นดิน และปริมาตรน้ำในมหาสมุทรขยายตัว สภาวะโลกร้อนยังส่งผลกระทบต่อวัฎจักรของน้ำบนโลก เกิดความผันแปรของพายุหมุนเขตร้อน เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วงยาวนาน หรือภาวะน้ำท่วมหนัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจของโลก จากปัญหาขาดแคลนน้ำของโลกทำให้องค์การสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญและรณรงค์ให้นานาประเทศช่วยกันอนุรักษ์น้ำ โดยกำหนดให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปีเป็นวันอนุรักษ์น้ำของโลก (World Day for Water) ตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา

     มีรายงานสถานการณ์น้ำของโลกชี้ให้เห็นว่าประชากรโลก 1 ใน 5 คน ไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาด ขาดแคลนน้ำดื่ม และประชากรครึ่งหนึ่งของโลกขาดแคลนน้ำสะอาดตามหลักสุขาภิบาล ประชากรมากกว่า 5 ล้านคนตายด้วยโรคที่เกิดจากน้ำไม่สะอาดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา  สถาบันจัดการน้ำระหว่างประเทศ (IWMI) ประมาณการว่าในราวปี ค.ศ. 2025 ประชากร 4,000 ล้านคน ใน 48 ประเทศ (2 ใน 3 ของประชากรโลก) จะเผชิญกับปัญหาความขาดแคลนน้ำ ในขณะที่ธนาคารโลกประมาณการว่า 30 ปีข้างหน้า ประชากรครึ่งหนึ่งของโลก จะประสบกับภาวะขาดแคลนน้ำหากยังคงมีการใช้น้ำที่ฟุ่มเฟือยอย่างเช่นในปัจจุบัน

     สำหรับประเทศไทยในระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาได้เผชิญปัญหาเกี่ยวกับน้ำอย่างต่อเนื่อง อาทิ สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรง ปริมาณน้ำสำรองในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ไม่เพียงพอ ปัญหาแหล่งน้ำเสื่อมโทรม และปนเปื้อนสารพิษอันมีสาเหตุมาจากชุมชนเมือง ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม รวมทั้งอุทกภัยรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งวิกฤตน้ำดังกล่าวที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการดำรงวิถีชีวิตของประชาชนอย่างมหาศาล และมีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้น  โดยสาเหตุดังกล่าวนั้นเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งขาดการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ปริมาณความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น พฤติกรรมการใช้น้ำ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน

     ดังนั้นเรามีความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันดูแล รักษา ทรัพยากรน้ำจืดที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ พอเพียง ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างสมดุลย์ของระบบนิเวศ และสมบูรณ์ต่อการนำมาใช้ประโยชน์ของมนุษย์ในอนาคต
น้ำจืดในประเทศไทย

© Naksit Sangjun/WWF-Thailand