แม่น้ำสงคราม เป็นลำน้ำสาขาสายหลักของแม่น้ำโขง ตั้งอยู่ในขอบเขตลุ่มน้ำสงครามซึ่งเป็น 1 ใน 37 ลุ่มน้ำสาขาลุ่มน้ำโขง แบ่งออกเป็นลุ่มน้ำสงครามตอนบน และลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง มีพื้นที่ลุ่มน้ำรวมกันประมาณ  6,472 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4,045,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ใน 5 จังหวัด คือ จังหวัดสกลนคร อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ และนครพนม มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาภูพาน บริเวณภูผาหัก ภูผาเพลิน และภูผาเหล็ก ในท้องที่ตำบลท่าศิลา อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร และตำบลคำเลาะ อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี บริเวณต้นน้ำมีลำห้วยสาขาต่าง ๆ อาทิ ห้วยหวด และห้วยหมากซ่อม ไหลลงห้วยสงคราม, ห้วยอีสาว ไหลลงห้วยสงคราม ห้วยคำเมย-ห้วยคำแคน ในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก ไหลลงห้วยสงคราม ต่อจากนั้นไหลผ่านอำเภอไชยวาน (อุดรธานี) อำเภอส่องดาว (สกลนคร) อำเภอทุ่งฝน (อุดรธานี) อำเภอเจริญศิลป์ (สกลนคร) อำเภอบ้านดุง (อุดรธานี) อำเภอบ้านม่วง (สกลนคร) อำเภอเฝ้าไร่ (หนองคาย) ไหลขึ้นเหนือไปจนถึงอำเภอโซ่พิสัย (บึงกาฬ) ผ่านอำเภอพรเจริญ (บึงกาฬ) อำเภอคำตากล้า (สกลนคร) อำเภอเซกา (บึงกาฬ) อำเภอนาทม (นครพนม) อำเภออากาศอำนวย (สกลนคร) อำเภอศรีสงคราม ไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บ้านไชยบุรีและบ้านตาลปากน้ำ ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม มีความยาวโดยประมาณ 420 กิโลเมตร นับว่าเป็นแม่น้ำสายสำคัญและและมีความยาวที่สุดในเขตภูมิภาคอีสานตอนบน

แผนที่แสดงขอบเขตลุ่มน้ำสงคราม

© Naksit Sangjun/WWF-Thailand

ลุ่มน้ำสงคราม

© Naksit Sangjun/WWF-Thailand

บริเวณปากแม่น้ำสงคราม…ที่ช่วยเติมเต็มความอุดมสมบูรณ์ให้กับแม่น้ำโขง rel= © WWF-Thailand

     แม่น้ำสงครามประกอบด้วยลำน้ำสาขาที่สำคัญคือ น้ำอูน น้ำยาม ห้วยโนด ห้วยชาง ห้วยน้ำเย็น ห้วยน้ำอุ่นห้วยสามยอด ห้วยคำแก้ว ห้วยคอง ห้วยชี ห้วยฮี้ และน้ำเมา ที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำสงคราม ทำให้ลำน้ำมีขนาดใหญ่ขึ้นโดยเฉพาะในช่วงปลายลำน้ำก่อนไหลลงแม่น้ำสงคราม แม่น้ำสงครามเป็นแม่น้ำที่ไหลคดเคี้ยว มีตลิ่งค่อนข้างสูงชัน ในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนมิถุนายน ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะสูงขึ้น ปริมาณน้ำมหาศาลจะไหลย้อนเข้ามาในแม่น้ำสงครามลึกกว่า 200 กิโลเมตร โดยในช่วงฤดูน้ำหลากพื้นที่ลุ่มน้ำสงครามจะมีพื้นที่น้ำขังประมาณ 960 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 600,000 ไร่
 
     ชื่อเรียกคำว่า “แม่น้ำสงคราม” ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำสงครามใดๆ เข้าใจว่ามาจากชื่อเรียกของคนอีสาน เนื่องจากบริเวณแม่น้ำสงครามจะปรากฏต้นครามหรือต้นคามซึ่งเป็นไม้พุ่ม ใช้ใบและต้นสำหรับย้อมสีน้ำเงินเข้มเรียกว่าสีครามขึ้นอยู่ทั่วไป

     แม่น้ำสงครามนับว่าเป็นระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ปัจจุบันเป็นพื้นที่หนึ่งที่ยังคงมีพื้นที่ป่าบุ่งป่าทาม (ป่าน้ำท่วม) ที่สำคัญที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในภาคอีสานซึ่งพบกระจายทั่วไปบริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำสงครามและลำน้ำสาขา มีพื้นที่ประมาณ 160,000 ไร่ ซึ่งนับว่ามีความสำคัญและคุณประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะการเอื้อประโยชน์ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นทั้งทางตรงและทางอ้อม 

     จากงานวิจัยไทบ้านซึ่งสำรวจข้อมูลโดยเครือข่ายนักวิจัยไทบ้านลุ่มน้ำสงคราม อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม พบว่า บริเวณป่าบุ่งป่าทามดังกล่าว มีความหลากหลายของระบบนิเวศย่อย ถึง 28 ระบบ ได้แก่ กุด แก้ง ดง ดอน ทาม บุ่ง โพน วัง โสก ฯลฯ ซึ่งมีความเหมาะสมสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของพันธุ์ปลากว่า 124 ชนิด ได้แก่ ปลาบึก (Pangasianodon gigas) ปลากระเบนแม่น้ำโขง (Dasyatis laosensis) ปลาหมากผาง (Tenualosa thibeaudaui) ปลาซิวแก้ว (Clupeichthys aesarnensis) ปลาซิวแคระ (Boraras micros) ปลาซิวหางกรรไกรเล็ก (Rasbora spilocerca) ปลาเอินฝ้าย (Probarbus labeaminor) ปลาข้าวสารแม่น้ำโขง (Oryzias mekongensis) ชนิดที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ได้แก่ ปลากระโห้ (Catlocarprio siamensis) ปลาเค้าดำ (Wallago leerii) ชนิดที่อยู่ในสถานภาพมี แนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ได้แก่ ปลาแมวหูดำ (Setipinna melanochir) ปลาดุกด้าน (Clarias batrachus) ปลาจิ้มฟันจระเข้ (Doryichthys martensii) ปลาจิ้มฟันจระเข้แคระ (Indostomus paradoxus) ชนิดที่อยู่ในสถานภาพถูกคุกคามในถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ (threatened in the wild) ได้แก่ ปลาสวาย(Pangasianodon hypophthalmus) ปลากัดเขียว (Betta smaragdina) นอกจากนี้ยังมีพรรณพืชในป่าทามที่ใช้ประโยชน์ได้จำนวนถึง 208 ชนิด ชนิดพันธุ์นกชนิดต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 136 ชนิด อาทิเช่น เป็ดดำหัวดำ (Aythya baeri) นกกระสาแดง (Ardea purpurea) นกอ้ายงั่ว (Anhinga melanogaster) เหยี่ยวตีนแดง (Falco amurensis) เป็นต้น

บริเวณลุ่มน้ำสงครามตอนล่างที่มีลักษณะพิเศษ คือ ในฤดูฝนน้ำจะค่อยๆ ท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ และเมื่อถึงฤดูน้ำหลากจะกลายสภาพเป็นผืนทะเลสาบน้ำจืดกว้างใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ถึง 600,000 ไร่ ครอบคลุมระยะเวลานานประมาณ 3-4 เดือน น้ำหลากนี้เป็นอิทธิพลมาจากน้ำเหนือและน้ำจากลำน้ำโขงที่ไหลย้อนเข้ามาตามลำน้ำสงครามและลำน้ำย่อยมีลักษณะคล้ายกับทะเลสาบเขมร ลักษณะดังกล่าวทำให้ลุ่มน้ำสงครามตอนล่างมีเอกลักษณ์เฉพาะทางธรรมชาติ คือ มีป่าชนิดต่างๆ ขึ้นอยู่ตามที่ราบน้ำท่วมถึงริมแม่น้ำและห้วยสาขาที่ทนต่อน้ำท่วม 3-4 เดือน โดยเฉพาะป่าไผ่พื้นบ้าน ซึ่งชุมชนท้องถิ่นเรียกพื้นที่นี้ว่า "ป่าบุ่งป่าทาม" หรือ "ป่าทาม" (Flood Forest)

ลักษณะดังกล่าวทำให้วิถีชีวิตคนลุ่มน้ำสงครามนั้นผูกพันกับแม่น้ำสงครามและป่าบุ่งป่าทามอย่างแยกกันไม่ออก เนื่องจากแม่น้ำสงครามและป่าบุ่งป่าทามเป็นแหล่งทรัพยากรที่เลี้ยงดูชุมชนรอบๆ มาอย่างยาวนาน และชาวบ้านได้พึ่งพาทรัพยากรด้านต่างๆจากความหลากหลายทางชีวภาพ หรือความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในป่าบุ่งป่าทาม ลุ่มน้ำสงคราม จนสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและประเพณี

คุณค่า ความสำคัญ และการใช้ประโยชน์ 

แม่น้ำสงคราม มีคุณค่า ความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้การสนับสนุน ปัจจัยที่สำคัญใน การดำรงชีพของคนและสรรพสัตว์ สิ่งมีชีวิต ทั้งพืช และสัตว์ พอสรุปได้ดังนี้ 
  1. เป็นแหล่งนำผิวดินให้แก่แหล่งน้ำโดยรอบและแม่น้ำโขง รวมทั้งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ พืช สัตว์ ที่สำคัญ สำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ และเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ ไหลหล่อเลี้ยงผู้คนกว่า 1.45 ล้านคน มีปริมาณการจับปลามากกว่า 45,000 ตันต่อปี สร้างรายได้ให้กับชุมชนเฉลี่ย 32,794 บาท/ปี
  2. เป็นแหล่งน้ำใต้ดินที่สำคัญ เป็นพื้นที่รองรับน้ำท่วม ชะลอ ความรุนแรงการไหลบ่าของน้ำ ช่วยดักจับสารเคมี สารพิษ ตะกอนดิน และช่วยเพิ่มปริมาณน้ำให้ แก่มนุษย์ และสิ่งมีชีวิต เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  3. เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร แหล่งผสมพันธุ์ และทำรัง วางไข่ของสัตว์น้ำที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาหลายชนิดจากแม่น้ำโขง อพยพมาผสมพันธุ์ และวางไข่ พร้อมทั้งเป็นแหล่งอนุบาลลูกปลา ก่อนที่จะออกไปเจริญเติบโตในแม่น้ำโขง  เป็นอาหาร และรายได้ที่สำคัญ ให้แก่ประชากรที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำโขงต่อไป

ปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดให้ลุ่มน้ำสงครามเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ และอยู่ระหว่างการเตรียมการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือ พื้นที่แรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site) แห่งที่ 15 ของประเทศไทย
 
แม่น้ำสงคราม

© Assanai Srasoongnern/WWF-Thailand

แม่น้ำสงคราม

© Yanyong Sricharoen/WWF-Thailand

แม่น้ำสงคราม

© WWF-Thailand

แม่น้ำสงคราม

© Naksit Sangjun/WWF-Thailand