พื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) หมายถึงลักษณะทางภูมิประเทศที่มีรูปแบบเป็น พื้นที่ลุ่ม พื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่ลุ่มชื้นแฉะ พื้นที่ฉ่ำน้ำ มีน้ำท่วม มีน้ำขัง พื้นที่พรุ พื้นที่แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขัง หรือท่วมอยู่ถาวร และชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่ง และน้ำทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเล และพื้นที่ของทะเล ในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุดมีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) 

มีการคาดการณ์ไว้ว่าในทุกทวีปของโลกมีพื้นที่ชุ่มน้ำรวมกันคิดเป็นพื้นที่ระหว่าง 8.3 – 10.2 ล้าน ตร.กม. หรือระหว่าง 5,187 – 6,375 ล้านไร่ (Lehner and Doll, 2004) คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.6-2.0 ของพื้นที่โลก 
 

พื้นที่ชุ่มน้ำ

© Chaiya Peng-un/WWF-Thailand

พื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทย
พื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทยแบ่งออกเป็น ๓ ประเภทหลัก ดังนี้

1). พื้นที่ชุ่มน้ำทางทะเล และชายฝั่งทะเล (Marine and Coastal Wetlands) ได้แก่ แนวปะการังชายฝั่ง หาดทราย แหล่งน้ำกร่อย หาดโคลน หาดเลน ป่าชายเลน ฯลฯ
2). พื้นที่ชุ่มน้ำภายในแผ่นดินใหญ่ (Inland Wetlands) ได้แก่ ทะเลสาบ หนอง บึง ห้วย ป่าพรุ ฯลฯ
3). พื้นที่ชุ่มน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น (Human-made Wetlands) ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ สระน้ำ บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ พื้นที่เกษตรกรรม ฯลฯ
 
     ประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างน้อย 36,616.16 ตารางกิโลเมตร หรือ 22,885,100 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 7.5 ของพื้นที่ประเทศไทย แบ่งเป็นพื้นที่น้ำจืดร้อยละ 44.8 และเป็นพื้นที่น้ำเค็มร้อยละ 55.2 คุณค่าโดยรวมของพื้นที่ชุ่มน้ำ ได้แก่ การเป็นแหล่งน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำฝนและน้ำท่า ป้องกันน้ำเค็มมิให้รุกเข้ามาในแผ่นดิน ป้องกันชายฝั่งพังทลาย ดักจับตะกอนและแร่ธาตุ ป้องกันภัยธรรมชาติต่าง ๆ เป็นแหล่งทรัพยากรและผลผลิตทางธรรมชาติที่มนุษย์เข้าไปใช้ผลประโยชน์ เช่น แหล่งอาหาร ยารักษาโรค แหล่งนันทนาการพักผ่อนท่องเที่ยว เป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ มีความสำคัญทางนิเวศวิทยาและการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งของผู้ผลิตห่วงโซ่อาหาร ความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ตลอดจนเป็นแหล่งศึกษาวิจัยทางธรรมชาติ

     ปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ ของโลก รวมทั้งประเทศไทยกำลังตกอยู่ในภาวะถูกคุกคาม จากการบุกรุกและกิจกรรมการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ เช่น การเกษตร การเพาะปลูก การประมง การขยายตัวเมือง การพัฒนาอุตสาหกรรม ต่างๆ โดยมีสาเหตุที่สำคัญ  ได้แก่
  1. ขาดข้อมูลพื้นฐานเพื่อการวางแผนการจัดการ
  2. ขาดการวางแผนและการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
  3. นโยบายและการบริหารจัดการที่แยกส่วน และไม่ชัดเจน
  4. ขาดความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
  5. ชุมชนขาดโอกาสในการมีส่วนร่วมวางแผนและจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
คุณค่าและความสำคัญประการหนึ่งของพื้นที่ชุ่มน้ำคือการเป็นพื้นที่รองรับน้ำ ช่วยชะลอ และป้องกันน้ำท่วม แต่ในปัจจุบันพบว่าพื้นที่ชุ่มน้ำหลายแห่งได้ถูกบุกรุก ทำลาย และ/หรือถูกพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปใช้ในรูปแบบอื่น เช่น เป็นพื้นที่เกษตรกรรม นิคมอุตสาหกรรม และชุมชนเมือง ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างสาธาณูปโภคต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาอุทกภัยเพิ่มขึ้นและรุนแรง ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนนอกจากนี้พื้นที่ชุ่มน้ำจำนวนมากมีความเสื่อมโทรม หลายแห่งถึงขั้นวิกฤติ อีกทั้งในปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน และสถาบันการศึกษา ได้ยอมรับและตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ

ด้วยเหตุนี้ คณะทำงานวิชาการพื้นที่ชุ่มน้ำ และคณะอนุกรรมการการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ จึงได้ทำการศึกษาคุณสมบัติทางนิเวศวิทยา และทบทวนบัญชีรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติ การเสนอยกระดับพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับท้องถิ่นขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติ และเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญเร่งด่วนสมควรได้รับการคุ้มครอง ฟื้นฟู และศึกษาสำรวจ รวมทั้งจัดทำทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ และระดับชาติของประเทศไทย ขึ้นเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2552 ซึ่งคณะกรรมการมีความเห็นชอบ ต่อมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้เสนอมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 โดยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบตามมติเรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 สิงหาคม 2543 เรื่อง “ทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติของประเทศไทย และมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ” มีรายละเอียดสาระสำคัญ ดังนี้

1). พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ จำนวน 69 แห่ง
2). พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ จำนวน 47 แห่ง
3). พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องได้รับการคุ้มครอง 17 แห่ง
4). พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องได้รับการฟื้นฟู 20 แห่ง
5). พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องได้รับการศึกษาสำรวจ อย่างน้อย 19 แห่ง
 
พื้นที่ชุ่มน้ำ

© Naksit Sangjun/WWF-Thailand

พื้นที่ชุ่มน้ำ

© Naksit Sangjun/WWF-Thailand

พื้นที่ชุ่มน้ำไทย

© Naksit Sangjun/WWF-Thailand

รายชื่อพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ

© Naksit Sangjun/WWF-Thailand

รายชื่อพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ

รายชื่อพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ

© Naksit Sangjun/WWF-Thailand

รายชื่อพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ