What would you like to search for?

พัฒนาศักยภาพชุมชนผู้ผลิตและสร้างโอกาสในการเข้าถึงตลาดสินค้าอินทรีย์ด้วย SDGsPGS

11 May 2023

 

 
ด้วยโครงการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) สำนักงานประเทศไทย มุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่เกษตรกรรายย่อย ชุมชนเกษตรกรและเครือข่ายผู้ผลิตระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อให้การขับเคลื่อนงานส่งเสริมเกษตรกรรมและสร้างการพึ่งพาตนเองภายในชุมชนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมมาตราฐานเกษตรอินทรีย์ผ่านระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม หรือ (PGS: Participatory Guarantee Systems) จึงเป็นหัวใจหลักที่จะช่วยให้ชุมชนเกษตรกรรายย่อยสามารถนำผลผลิตอินทรีย์เข้าสู่ตลาดได้

ในปัจจุบัน พื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนในจังหวัดน่านยังขาดทรัพยากรบุคคลที่จะลงพื้นที่ตรวจแปลงการผลิตเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสมาชิกเครือข่ายเกษตรกรยังขาดองค์ความรู้วิธีการตรวจแปลงการผลิตในระบบ PGS เป็นจำนวนมาก เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์น่านจึงจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตระบบอินทรีย์ให้มีทักษะในการตรวจรับรองแปลงเพื่อรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระบบ PGS ให้มีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น  ในวันที่ 25-26 เมษายน 2566 และ 1 พฤษภาคม 2566 ณ ห้องกาสะลองคำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา อ.เมือง จ.น่าน
 

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วิไลพร จันทร์ไชย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน เป็นวิทยากรฝึกอบรมผู้ตรวจรับรองแปลง PGS โดยวันแรกของการอบรมจัดในรูปแบบการบรรยายหลักการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อื่นแบบเบื่องต้น ซึ่งการจะใช้มาตาฐานแบบใดก็ขึ้นอยู่กับประสงค์ของผู้ผลิตเองว่าต้องการนำสินค้าไปขาย ณ ตลาดแห่งใด ยกตัวอย่าง เช่น หากเกษตรกรต้องการนำผลผลิตอินทรีย์ไปวางขายตลาดภายในประเทศ การได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระบบ PGS หรือ Organic Thailand ก็ถือเพียงพอแล้ว แต่หากต้องการนำสินค้าส่งออกไปขายที่ตลาดต่างประเทศ เกษตรกรก็ต้องได้รับมาตรฐาน IFOAM หรือ USDA organic เป็นต้น ซึ่งก็ขึ้นกับศักยภาพและความต้องการของตัวผู้ผลิตเอง  
 

วันที่สองของการอบรม คือ ฝึกปฏิบัติการตรวจรับรองแปลงในพื้นที่แปลงเกษตรอินทรีย์ชุมชนวัดม่วงเจริญราษฎร์ ต.สวก อ.เมือง จ.น่าน โดยเริ่มจากการแนะนำตัว ชี้แจงแผนการตรวจกับเจ้าของแปลง การจัดทำเอกสารก่อนการเข้าตรวจแปลง การสัมภาษณ์เจ้าของแปลงและบันทึกการสัมภาษณ์ โดยอาจารย์วิไลพร ได้เน้นว่า เกษตรกรผู้ตรวจรับรองแปลงต้องมี “3 ส ได้แก่ สำรวจ สังเกตุ และสัมภาษณ์” ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่ผู้ตรวจแปลงต้องนำไปใช้ อาทิเช่น เมื่อมาถึงแปลง ก็ต้อง “สำรวจ” พื้นที่เพาะปลูกก่อนว่า ได้ปลูกพืชอะไรบ้าง มีการวัสดุหรืออุปกรณ์การเกษตรอะไรบ้าง เมื่อดูภาพรวมแล้ว สิ่งถัดมา คือ “สังเกตุ” ว่ามีสิ่งผิดปกติที่บ่งชี้ว่ามีการแอบใช้สารเคมีทางการเกษตรภายในแปลงปลูกหรือไม่ ซึ่งประสบการณ์การทำเกษตรอินทรีย์ของผู้ตรวจรับรองแปลง จะสามารถจับพิรุธได้จากการ “สัมภาษณ์” เจ้าของแปลงนั้นเอง
 
 
 

หลังจากพักการอบรมเกือบ 1 สัปดาห์เพื่อให้เกษตรกรได้เข้าไปดูแลพืชผักที่ตนเองปลูกในแปลง ก็กลับเข้ามาสรุปบทเรียน    การบันทึกรายงานและสรุปผลการตรวจแปลงตามเกณฑ์มาตรฐาน PGS การเตรียมเอกสารและข้อมูลสำหรับบันทึกในระบบสารสนเทศเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ (Organic Agricultural Network: OAN) ในเบื้องต้น และการจัดทำรายงานการตรวจรับรองแปลงเพื่อส่งให้คณะกรรมการเป็นผู้อนุมัติการตรวจรับรองในลำดับสุดท้าย
 

เมื่อจบการฝึกอบรม เกษตรกรในเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์น่านได้มีการแลกเปลี่ยนกันในหลายแง่มุม ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมได้เห็นความสำคัญในการตรวจรับรองแปลงระบบ PGS เนื่องจาก คำว่า “สินค้าอินทรีย์” หัวใจหลัก คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจของผู้บริโภค ซึ่งสมาชิกทุกคนก็พร้อมจับมือกันเพื่อให้เครือข่ายผู้ผลิตดำเนินไปอย่างเข้มแข็งในอนาคต
 
Media Contact
Abhinand Aryapratheep
+662-618-4303-05
Donate
Donate