What would you like to search for?

เรากำลังเผชิญกับวิกฤตการขาดแคลนน้ำและความมั่นคงทางอาหารที่เลวร้ายลง ส่วนสำคัญในการแก้ปัญหานี้กลับอยู่แค่ใต้จมูกเราเท่านั้น

06 November 2023

โดยสจ๊วร์ต ออร์ หัวหน้าระดับนานาชาติฝ่ายทรัพยากรน้ำจืดของ WWF และ เชา กัมปาริ หัวหน้าระดับนานาชาติฝ่ายทรัพยากรอาหารของ WWF

หากเราพูดถึงการกำจัดความหิวโหยและการรับประกันน้ำสะอาดให้กับทุกๆ คนแล้ว โลกของเรากำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางที่ไม่สอดคล้องนัก ณ เวลานี้ เราเดินทางมาถึงครึ่งทางก่อนจะถึงเส้นตายในการไปให้ถึงเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี 2030 แต่แนวโน้มที่เกิดขึ้นก็ดูจะไปผิดทิศผิดทาง กลับมาผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่กำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารและโภชนาการ เช่นเดียวกับการขาดแคลนน้ำ มีผู้คนประมาณ 2 พัน 4 ร้อยล้านคนที่กำลังประสบกับความไม่มั่นคงทางอาหารในระดับปานกลางไปจนถึงระดับรุนแรง ขณะที่ประชากรกว่าครึ่งโลกต้องพบกับการขาดแคลนน้ำอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่เคยขาดแคลนก็คือความคิดใหม่ๆ ในการที่จะแก้วิกฤตเหล่านี้ ถึงอย่างนั้นก็ตาม เราก็ยังคงไม่มีทางออกต่อสองปัญหานี้ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวด

ข้อแรกคือความท้าทายด้านอาหารและน้ำต่างส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน และเราจะต้องไม่จัดการกับวิกฤตเหล่านี้แบบแยกส่วนอีกต่อไป วันอาหารโลกได้ย้ำเตือนให้เราระลึกอยู่เสมอว่า “น้ำก็คืออาหาร” เราไม่สามารถผลิตอาหารให้มากเพียงพอต่อประชากรโลกที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นโดยไม่แก้วิกฤตทรัพยากรน้ำได้ ในทางกลับกัน การขาดแคลนน้ำ น้ำท่วม และมลภาวะทางน้ำที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้ความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการตกอยู่ภายใต้การคุกคามที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ระบบการผลิตอาหารที่ไม่ยั่งยืนของเราเองกลับเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้สถานการณ์วิกฤตทรัพยากรน้ำย่ำแย่ลง เราจำเป็นต้องรับมือกับปัญหาทรัพยากรน้ำและอาหารไปพร้อมกัน

ข้อที่สองซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาที่มุ่งตรงไปยังต้นตอของความท้าทายทั้งสองอย่างนี้ นั่นก็คือการให้คุณค่าและการลงทุนในการสร้างระบบนิเวศน้ำจืดที่มีความอุดมสมบูรณ์ ก่อนหน้านี้ บรรดาผู้มีอำนาจตัดสินใจทั้งหลายต่างพากันมองข้ามและไม่ให้ค่ากับแม่น้ำ ทะเลสาบ พื้นที่ชุ่มน้ำ และชั้นหินอุ้มน้ำใต้ดินมาโดยตลอด และนั่นส่งผลต่อระบบการผลิตอาหารทั่วโลก แต่พวกเขากลับยังคงมุ่งเน้นไปที่การนำทรัพยากรน้ำมาใช้โดยปราศจากการจัดการที่เหมาะสม มองข้ามคุณค่าด้านอื่นๆ ของทรัพยากรน้ำ และความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกระบวนการโดยรวม ความเสียหายดังกล่าวได้กลายมาเป็นการคุกคามต่อความสามารถของมนุษย์ที่จะมอบโภชนาการที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับประชากรโลกที่มีแต่เพิ่มขึ้น

เกษตรกรรมคือกิจกรรมที่ใช้ทรัพยากรน้ำรายใหญ่ที่สุด คิดเป็นปริมาณมากถึง 70% ของปริมาณน้ำที่มนุษย์นำมาใช้จากแหล่งธรรมชาติ แต่ที่ผ่านมานั้น การจัดสรรปันส่วนและการนำทรัพยากรน้ำมาใช้กลับดำเนินไปด้วยความคำนึงถึงอันน้อยนิดต่อความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน้ำจืดในระยะยาว รวมไปถึงชุมชนต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยแหล่งน้ำเหล่านั้น การปฏิบัติต่อแม่น้ำเป็นเพียงแค่ท่อส่งน้ำ ต่อพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นเพียงแค่ “พื้นที่เสื่อมโทรม” รอวันถูกเปลี่ยนเป็นฟาร์มเลี้ยงปลาหรือพื้นที่เพาะปลูก และต่อทะเลสาบและชั้นหินอุ้มน้ำใต้ดินเป็นเพียงแค่แหล่งน้ำที่ไม่มีวันเหือดแห้งสำหรับการชลประทาน เหล่านี้ล้วนเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับวิกฤตทรัพยากรน้ำจืด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ณ ปัจจุบันนี้ที่วิกฤตโลกรวนส่งผลต่อระบบอุทกวิทยา ทำให้รูปแบบการเกิดฝนและการไหลของแม่น้ำเปลี่ยนแปลงไป ชุมชนและประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังเรียนรู้ว่า การตัดสินใจในอดีตที่ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าแหล่งทรัพยากรน้ำนั้นไม่มีวันเหือดแห้งและสภาพอากาศจะคงเหมือนเดิมตลอดไปนั้น คือสูตรสำเร็จของหายนะ 

การให้ความสำคัญกับการนำทรัพยากรน้ำมาใช้อย่างไม่ยั่งยืนสำหรับการชลประทานเพื่อการเกษตร ช่วยทำให้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วของกระบวนการผลิตอาหารทั่วโลกในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่สิ่งนี้ก็ต้องแลกมาด้วยต้นทุนอันแสนแพง การนำทรัพยากรน้ำมาใช้อย่างมากเกินความจำเป็นที่แพร่กระจายไปทั่วได้ทำลายการไหลของแม่น้ำตามธรรมชาติ ทำให้ระบบนิเวศของร่องน้ำทั้งหลายเหือดแห้ง และไม่สามารถทำหน้าที่ตามธรรมชาติของมันได้อีกต่อไป ขณะเดียวกัน การใช้ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชมากเกินความจำเป็น เมื่อรวมเข้ากับสิ่งปฏิกูลจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ก็ทำให้เกิดมลภาวะในทางน้ำต่างๆ ส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตเกินขอบเขตของพืชพรรณบางชนิดและพื้นที่ที่สิ่งมีชีวิตไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในระบบนิเวศน้ำจืด หรือแม้กระทั่งลุกลามไปจนถึงระบบนิเวศในทะเล ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ต้องจ่ายด้วยต้นทุนทางสังคม เมื่อชุมชนต่างๆ ไม่สามารถเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและปลอดภัยเพื่อดำรงชีวิตอย่างมีความสุขได้

เราได้เห็นผลลัพธ์ที่ปรากฏขึ้นแล้วทั่วโลก ทั้งจากแม่น้ำที่กำลังเหือดแห้งอย่างแม่น้ำโคโลราโดและทะเลสาบที่กำลังตายอย่างทะเลอารัล ไปจนถึงน้ำใต้ดินในชั้นหินที่ถูกใช้ไปจนหมด การรุกคืบของน้ำเค็มบริเวณปากแม่น้ำ และทางน้ำที่ได้รับการปนเปื้อน หากปราศจากระบบนิเวศน้ำจืดที่อุดมสมบูรณ์แล้ว เราจะไม่มีวันมีระบบการผลิตอาหารที่อุดมสมบูรณ์ได้เลย

ความเสื่อมโทรมองระบบนิเวศน้ำจืดทั่วโลกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กำลังบ่อนทำลายไม่เพียงแค่ความมั่นคงทางอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความพยายามจากทั่วโลกในการที่จะยกระดับความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำและสุขภาพของมนุษย์ ตลอดจนถึงการลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ การรับมือกับวิกฤตทางสภาวะอากาศและธรรมชาติ และการผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งนืน

“การได้น้ำมาด้วยต้นทุนต่ำกลับมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก” เหมือนดังเช่นรายงานฉบับใหม่ของ WWF ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจน

รายงานฉบับเดียวกันยังได้ประเมินราคาของน้ำที่ใช้ไปกับการเกษตรในระบบชลประทานไว้ที่ 3 แสน 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี นี่เป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าทางเศรษฐกิจ 7 ล้าน 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐของน้ำและระบบนิเวศน้ำจืดที่เกิดขึ้นโดยตรงต่อครัวเรือน การเกษตร ธุรกิจ และอตุสาหกรรม แต่ก็นับเป็นมูลค่าอันน้อยนิดเมื่อเทียบกับมูลค่าทางเศรษฐกิจทางอ้อม 50 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐที่เกิดขึ้นจากน้ำและระบบนิเวศน้ำจืด ซึ่งครอบคลุมไปถึงการยกระดับคุณภาพดิน การกรองน้ำให้สะอาด การลดผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมรุนแรง และการสร้างความทนทานต่อสภาวะแล้ง คุณค่าเหล่านี้ที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อการผลิตอาหารอย่างยั่งยืนกำลังเผชิญความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน

เกินกว่า 60% ของพื้นที่เพาะปลูกในระบบชลประทานกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดด้านทรัพยากรน้ำ และสาภวะโลกรวนก็มีแต่จะทำให้สถานการณ์นี้ย่ำแย่ลงไปอีก ที่น่าขำก็คือระบบการผลิตอาหารของเราสร้างก๊าซเรือนกระจกมากถึงหนึ่งในสามของปริมาณที่ถูกปลอดปล่อยออกมาทั้งหมด ส่งผลให้วงจรอุบาทว์นี้ดำเนินต่อไป ขณะเดียวกัน การทำประมงน้ำจืดที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งนั้นก็กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์ขอทวีปเอเชียก็กำลังถูกน้ำทะเลหนุนท่วมและลดพื้นที่ลง การเกษตรแบบพึ่งพาน้ำฝนก็กำลังเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้นเพราะรูปแบบการตกของฝนทวีความไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้นภายใต้ภาวะโลกรวน องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (F.A.O.) พบว่า 10% ของพื้นที่เพาะปลูกแบบพึ่งพาน้ำฝนทั่วโลกได้เผชิญกับภาวะแล้งซ้ำซาก เช่นเดียวกับพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ 14% ทั่วโลก นี่คือต้นทุนที่เราเป็นผู้สร้างขึ้นมาจากการลดทอนคุณค่าของระบบนิเวศน้ำจืด

แต่ปัญหาก็ไม่ได้อยู่ที่อาหารเพียงอย่างเดียว ผู้คนอีกหลายพันล้านคนไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดหรือสุขอนามัยที่เหมาะสมซึ่งต่างก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ความเสี่ยงด้านทรัพยากรน้ำที่เพิ่มมากขึ้นเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหารและความเป็นอยู่ที่ดี ภาวะน้ำท่วมและภาวะแล้งอย่างรุนแรงยิ่งทำให้เกิดความปั่นป่วนมากกว่าที่เคยเป็นมา ความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศน้ำจืดกำลังตกต่ำลงอย่างไม่มีแนวโน้มที่จะหยุด นับตั้งแต่ปี 1970 เราได้สูญเสีย 1 ใน 3 ของพื้นที่ชุ่มน้ำที่เราเหลืออยู่ไปแล้ว และยังรวมถึง 83% ของประชากรสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศน้ำจืดในช่วงเวลาเดียวกันนี้อีกด้วย ระบบการผลิตอาหารมีส่วนรับผิดชอบมากถึง 50% ของความเสียหายดังกล่าวนี้

ระบบนิเวศน้ำจืดจำเป็นต้องเป็นหัวใจของการวางแผนสำหรับระบบการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน ซึ่งเราจำเป็นต้องมีในการเลี้ยงปากท้องให้กับโลกของเรา เราจะมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า แค่แม่น้ำต่างๆ เพียงอย่างเดียวก็คอยอุ้มชูการผลิตอาหารทั่วโลกถึง 1 ใน 3 ผ่านระบบชลประทาน การประมงน้ำจืดที่เลี้ยงคนมากถึง 200 ล้านคน ครอบคลุมทั้งชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในทวีปแอฟริกา เอเชีย และอเมริกาใต้ และยังรวมไปถึงพื้นที่การเกษตรอันอุดมสมบูรณ์บริเวณสามเหลี่ยมปากน้ำซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย

เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิถีของเราไปสู่การผลิตอาหารที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ ด้วยการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้การเสริมสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนกลายเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไป การเพาะปลูกพืชที่เหมาะสมในพื้นที่ที่เหมาะสมพร้อมไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบชลประทานจะมีส่วนช่วยได้เป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับการผนวกเอาธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทางการเกษตร

หากว่ากันอย่างถึงที่สุดแล้ว เรายังจำเป็นต้องบริหารจัดการอย่างยั่งยืนและปกป้องแหล่งทรัพยากรน้ำใต้ดินอันประเมินค่าไม่ได้  ด้วยการกำหนดขีดจำกัดในการใช้น้ำใต้ดินอย่างยั่งยืน พัฒนาวิธีการเติมน้ำในชั้นหินใต้ดินผ่านวิธีการตามธรรมชาติหรือการจัดการของมนุษย์ พร้อมทั้งลดความต้องการการใช้น้ำใต้ดินลง และเรายังจำเป็นต้องลงทุนไปกับแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติด้วยวิธีการที่อิงกับธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำตามธรรมชาติด้วยการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่ลุ่มน้ำท่วมถึง สันปันน้ำ และเติมน้ำให้กับชั้นหินใต้ดิน แต่ต้องพัฒนาคุณภาพดินไปพร้อมกันด้วย

ความยั่งยืนในการทำประมงน้ำจืดก็ควรจะได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วนด้วยเช่นกัน เราจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์น้ำที่จับได้และแนวโน้มต่างๆ เพื่อที่เราจะสามารถจัดการได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น และสามารถนำวิธีการระดับชุมชนที่ประสบความสำเร็จไปต่อยอดได้ การปลูกพืชและเพาะเลี้ยงสัตว์ใต้น้ำที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วก็จำเป็นจะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างรอบคอบเช่นกัน พฤติกรรมที่เกิดขึ้นที่ปลายทางของระบบผลิตอาหารก็จะได้รับผลกระทบด้วย ในฐานะสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนสิ่งที่เรากิน เราต้องปรับสมดุลของอาหารบนจานของเราเพื่อลดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มากเกินความจำเป็น และเพิ่มการบริโภคอาหารจากผลิตภัณฑ์พืชที่ได้รับการผลิตอย่างยั่งยืน สิ่งนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินครั้งใหญ่ รวมไปถึงเป็นการลดแรงกดดันที่เกิดขึ้นกับแหล่งทรัพยากรน้ำจืดซงกำลังถูกทำลายลงด้วยวิถีการเกษตรแบบปัจจุบัน สิ่งนี้ยังจะทำให้สุขภาพของเราดีขึ้นมากอีกด้วย และสุดท้ายคือเราต้องลดปริมาณการสูญเสียอาหารและอาหารเหลือทิ้งลงอย่างยิ่งยวด 40% ของอาหารที่ได้รับการผลิตออกมาทั้งหมดไม่ถูกบริโภค พวกมันกลับถูกทิ้งให้เสื่อมสภาพอยู่ตามฟาร์มต่างๆ ตกหล่นสูญหายไปกับระบบการขนส่ง หรือถูกกวาดลงถังขยะในครัวเรือนหรือในร้านอาหาร นี่คือการสูญเสีย
ทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้ำจืดในปริมาณมหาศาล และยังเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เกิดความต้องการในการผลิตอาหารมากขึ้นเรื่อยๆ

การเลี้ยงปากท้องของประชากรโลกที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นอยู่ตลอดนั้นไม่ควรเป็นต้นทุนที่โลกใบนี้ต้องจ่าย เราสามารถเตรียมพร้อมกับสิ่งที่เราต้องทำในอนาคตได้ แต่เราจะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เลยหากปราศจากระบบนิเวศน้ำจืดที่อุดมสมบูรณ์ เราต้องลงมือเดี๋ยวนี้ ในที่สุดทั้งโลกก็กำลังตื่นตัวกับปัญหาทรัพยากรน้ำ กระแสกำลังก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ แต่การลงมือทำนั้นยังเชื่องช้าเกินไป รายงานของเราคือการเรียกร้องให้มีการลงมือปฏิบัติการในทันทีเพื่อปกป้อง ฟื้นฟู และจัดการแม่น้ำ ทะเลสาบ พื้นที่ชุ่มน้ำ และชั้นหินอุ้มน้ำใต้ดินของเราอย่างยั่งยืน เพื่อที่สิ่งเหล่านี้จะนำพาเรากลับสู่เส้นทางแห่งความยั่งยืน และมุ่งหน้าสู่การกำจัดความหิวโหย ทุพโภชนาการ และเปิดให้ทุกคนเข้าถึงน้ำสะอาดได้ทั่วกัน
Media Contact
Abhinand Aryapratheep
+662-618-4303-05
Donate
Donate