© WWF-Thailand
จากหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็น ก็ยิ่งทำให้เราตระหนักและเข้าใจถึงความเสียหายที่มนุษย์สร้างให้แก่ธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งนอกจากผลกระทบต่อธรรมชาติแล้ว ยังทำให้เรายังเข้าใจถึงหลักการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมและขีดจำกัดของโลกได้ดียิ่งขึ้น
มนุษย์เป็นต้นเหตุของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ความสมดุลทางธรรมชาติ รวมทั้งระบบที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต

ดังที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่ามนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติเพื่อการอยู่รอด จากอากาศที่เราหายใจ น้ำที่เราดื่ม อาหารที่เรารับประทาน และทรัพยากรธรรมชาติที่เราใช้ อีกทั้งดัชนีการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตทางการเกษตร จึงอาจกล่าวได้ว่ามนุษย์ล้วนพึ่งพาธรรมชาติเพื่อประโยชน์ส่วนตนทั้งสิ้น



เป็นเวลานานนับทศวรรษที่นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ จากรายงาน Living Planet Report จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าจำนวนสัตว์ป่าลดลงอย่างน่าตกใจ โดยมีการคาดการณ์ว่าในช่วงปลายทศวรรษนี้ จำนวนสัตว์ป่าจะลดลงโดยเฉลี่ยถึง 67% และการที่สิ่งแวดล้อมยังถูกทำลายลงอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นว่าเรากำลังเปลี่ยนเข้าสู่ยุคที่ระบบนิเวศเสื่อมโทรมลงอย่างถาวร

ทว่า เคยมีการคาดการณ์ว่าปี 2016 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุด แต่ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกกลับอยู่ในสภาวะคงที่ในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีข้อโต้แย้งว่าการที่ปริมาณการปล่อยก๊าซคงที่นั้นอาจเป็นเพราะนี่คือปริมาณสูงสุดแล้วก็เป็นได้ รวมไปถึงการลักลอบล่าสัตว์และค้าสัตว์ป่าก็มีส่วนในการทำลายระบบนิเวศทางอ้อม อย่างไรก็ตาม ข่าวดีก็คือ เมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนได้ลงนามสั่งห้ามการค้างาช้างในประเทศแล้ว โดยถือเป็นการลงนามครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของโลก

การสร้างความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงการพึ่งพาอาศัยระหว่างสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อเป้าหมายหลักในการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืน

เราต้องสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงด้านการพัฒนาและด้านเศรษฐกิจที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกอยู่ในแต่ละสังคม

การเปลี่ยนแปลงนี้ขึ้นอยู่กับเราทุกคน หากเรารู้สึกกังวลกับปัญหาที่ต้องเผชิญในปัจจุบันขอให้เรานึกถึงโอกาสในการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างอนาคตใหม่ให้กับโลกของเรา