เป็นโครงการที่มุ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน องค์กรชุมชนในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ รวมไปถึงเครือข่ายประชาคมในลุ่มน้ำโขง เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง WWF ประเทศเดนมาร์ก กับ WWF ประเทศไทย โดยมีมูลนิธิเลยเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน และมูลนิธิฮักเมืองน่าน เป็นองค์กรร่วมดำเนินงาน ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนงบประมาณจาก องค์การความช่วยเหลือด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาแห่งประเทศเดนมาร์ก (DANIDA)

พื้นที่ชุ่มน้ำ

© Chaiya Peng-un/WWF-Thailand

วัตถุประสงค์

เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนมีศักยภาพและความสามารถในการจัดการ อนุรักษ์ ตลอดจนใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาดและยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะเชิงนโยบาย “พื้นที่ชุ่มน้ำชุมชน” บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น
 

พื้นที่ดำเนินงาน

พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง และพื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ (เดิมจังหวัดหนองคาย) ทั้งสองพื้นที่เป็นตัวแทนของระบบนิเวศพื้นที่ลุ่มชื้นแฉะ (Marsh) โดยมีหมู่บ้านเป้าหมายในการดำเนินงาน รวม 35 หมู่บ้าน แบ่งเป็น พื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง อำเภอบึงโขงหลงและอำเภอเซกา รวม16 หมู่บ้าน 3 ตำบล และ พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง อำเภอบึงกาฬ รวม 19 หมู่บ้าน 3 ตำบล 

พื้นที่ลุ่มน้ำเลย จังหวัดเลย ดำเนินงานในพื้นที่ ตำบลหนองคัน และตำบลแก่งศรีภูมิ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย โดยลุ่มน้ำเลยเป็นตัวแทนของพื้นที่ชุ่มน้ำประเภท พื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง (Lower Flood Plain) มีหมู่บ้านเป้าหมายในการดำเนินงานรวม 17 หมู่บ้าน โดยมีมูลนิธิเลยเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นองค์กรประสานการดำเนินงาน

พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน จังหวัดน่าน มีพื้นที่ดำเนินงานใน ตำบลน้ำเกี๋ยน และตำบลเมืองจัง กิ่งอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน โดยพื้นที่เป้าหมายดังกล่าวเป็นตัวแทนของระบบนิเวศต้นน้ำ(Watershed)  มีหมู่บ้านเป้าหมายในการดำเนินงานรวม 15 หมู่บ้าน และมีมูลนิธิฮักเมืองน่านเป็นองค์กรประสานการดำเนินงาน
 
รวมหมู่บ้านเป้าหมายใน 4 พื้นที่ดำเนินงานทั้งสิ้น 67 หมู่บ้าน
แผนที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง

© WWF-Thailand

ระยะเวลาดำเนินโครงการ

มีระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2548 ถึงเดือนมิถุนายน 2552 รวม 4 ปี

กิจกรรมหลัก

  • ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการศึกษา และวิจัยอย่างมีส่วนร่วม เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน สำหรับการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
  • เสริมสร้างศักยภาพและความสามารถในการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาดและยั่งยืน แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับ
  • เสริมสร้างให้เกิดกลไกและโครงสร้างการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ จากระดับท้องถิ่นสู่ระดับนโยบาย
  • เสริมสร้างความร่วมมือการดำเนินงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
  • เสริมสร้างจิตสำนึกให้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ
  • ประสานงานให้เกิดเครือข่ายการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำโดยชุมชนมีส่วนร่วม ในประเทศไทยและลุ่มน้ำโขง
  • สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ด้านการอนุรักษ์ และการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเกิดจากการริเริ่มของชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
แผนที่ชุ่มน้ำกุดทิง

© WWF-Thailand

ผลการดำเนินงาน

ผลการดำเนินโครงการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนในประเทศไทยและลุ่มน้ำโขงในพื้นที่เป้าหมาย คือพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง และบึงโขงหลง โดยนำมาตรการการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำของชาติ รวม 13 มาตราการ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน สามารถสรุปผลสำเร็จที่สำคัญ หลัก ๆ ได้ 6 ด้าน ด้วยกัน ดังนี้ 

1.  ด้านการบริหารจัดการพื้นที่
  • อำนวยความสะดวกให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดหนองคาย เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่เป้าหมาย ที่สำคัญยิ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารและดำเนินกิจกรรม
  • อำนวยความสะดวกให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานระดับพื้นที่พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง อำเภอบึงกาฬ และคณะทำงานระดับพื้นที่พื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง อำเภอบึงโขงหลง และอำเภอเซกา 
2.  ด้านการจัดทำฐานข้อมูลด้านต่างๆ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรชุมชน
  • โครงการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำฯ ได้ประสานงานและอำนวยความสะดวกให้แก่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อปท.  ผู้นำชุมชน โรงเรียน และกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ร่วมกันจัดทำงานวิจัย รวบรวมฐานข้อมูลต่างๆ ได้แก่ ฐานข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติรอบพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง และบึงโขงหลง ฐานข้อมูลด้านการประเมินการใช้ทรัพยากรประมง ในพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง และบึงโขงหลง ฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ของพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง และบึงโขงหลง ฯลฯ
  • อำนวยความสะดวก และเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนให้มีการรวมกลุ่ม เช่น กลุ่มประมง และกลุ่มเกษตรกร พร้อมทั้งอบรมให้ความรู้และพาศึกษาดูงาน
  • จัดให้มีเวที สรุป ทบทวน บทเรียน และจัดตั้งคณะกรรมการกลุ่มรวมทั้งกำหนดแผนงานกิจกรรมที่จะดำเนินงาน โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการฯ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในระดับอำเภอ และโครงการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำฯให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรม 
3. ด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู การใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างชาญฉลาดและยั่งยืน  และการเสริมสร้างเครือข่ายกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์
  • การสร้างความชัดเจนของขอบเขตพื้นที่ชุ่มน้ำเป้าหมายทั้ง 2 แห่ง โดยดำเนินการสำรวจแนวเขตพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง  ตามแนวเขตหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ( นส.ล.) รวมทั้งมีการปักเสาซีเมนต์สูง 2 เมตร ตามแนวหลักเขตของกรมที่ดิน จนแล้วเสร็จ ส่งผลให้พื้นที่ชุ่มน้ำเป้าหมายทั้ง 2 พื้นที่ มีแนวเขตที่ชัดเจนและช่วยลดปัญหาการบุกรุกพื้นที่
  • กำหนดเขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือเขตอนุรักษ์โดยเด็ดขาด โดยการกำหนดเขตอนุรักษ์โดยเด็ดขาดในพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง รวม 6 แห่ง และพื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง รวม 13 แห่งรวมทั้งสิ้น 19 แห่ง เพื่อให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ วางไข่สัตว์น้ำเป็นการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำตามธรรมชาติ                
  • ร่วมกับสำนักงานประมงอำเภอได้สนับสนุนให้มีการปลูกพืชน้ำ รวมทั้งสร้างบ้านปลาในเขตอนุรักษ์ เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งวางไข่ ที่เหมาะสมต่อไป
  • การเสริมสร้างเครือข่ายกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยสนับสนุนการรวมกลุ่มชาวประมง และสนับสนุนงบประมาณดำเนินกิจกรรมเช่น กิจกรรมการลาดตระเวนผู้กระทำผิดตามกฎหมายประมง และมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรประมง อย่างยั่งยืน ต่อไป
  • สนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรในพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง และบึงโขงหลง สนับสนุนการผลิตปุ๋ยชีวภาพจากมูลสัตว์ และปุ๋ยน้ำหมักจากหอยเชอรี่ เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม เป็นการลดการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ และสารเคมีซึ่งส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม และที่สำคัญยิ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและเครือข่ายเกษตรกรเพื่อการผลิดอย่างมีประสิทธิภาพ
4.  ด้านการเสริมสร้างจิตสำนึก
  • การเปิดโอกาสให้ชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานวิจัย รวบรวม จัดทำฐานข้อมูลด้านต่างๆ ทำให้ได้เรียนรู้ถึงคุณค่า ความสำคัญ และสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติในอดีตและปัจจุบัน ก่อให้เกิดการทบทวนบทเรียนและร่วมวางแผน ตัดสินใจการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาดและยั่งยืนต่อไป
  • ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหนองคายเขต 3 และโรงเรียนเป้าหมายใน 2 พื้นที่เป้าหมาย รวม 18 โรงเรียนจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นการเรียนการสอนเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำ มีการจัดกระบวนการเรียนการสอนทั้งในและนอกห้องเรียน และผู้เรียนได้นำความรู้ที่ได้ถ่ายทอดให้กับญาติ พี่น้องรวมทั้งผู้ปกครองส่งผลให้พฤติกรรมการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
  • จัดให้มีการเข้าค่ายเยาวชน พิทักษ์พื้นที่ชุมน้ำกุดทิง และบึงโขงหลง เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ และการปฎิบัติจริงในพื้นที่ รวมทั้งเป็นการเริ่มต้นการเสริมสร้างเครือข่ายอนุรักษ์ร่วมกัน 
5. ด้านความต่อเนื่องการดำเนินกิจกรรม
  • คณะกรรมการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดหนองคายมีมติเห็นชอบให้เสนอพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติหรือพื้นที่ Ramsar site และได้รับความเห็นชอบจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 26 พฤษภาคม 2552 ให้เป็นพื้นที่ Ramsar site ลำดับที่ 12 ของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นเครื่องมือให้แก่ชุมชนในการอนุรักษ์ ปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำ ต่อไป
  • คณะกรรมการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดหนองคาย มีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้งสำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง ซึ่งเป็นไปตามมาตรการการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำระดับชาติ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งจะทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิงมีหน่วยงานราชการที่จะคอยสอดส่องดูแล พื้นที่ ต่อไป
  • สนับสนุนและจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง และบึงโขงหลง ระยะ 5 ปี ( พ.ศ. 2553 – 2557 ) ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมมีความต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพและเกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น 
6. ด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงาน
  • โครงการฯ ได้ดำเนินการผลิต วีดีทัศน์  และพัฒนา Web site องค์กร เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานโครงการฯ
พื้นที่ชุ่มน้ำ

© Chaiya Peng-un/WWF-Thailand

พื้นที่ชุ่มน้ำ

© Chaiya Peng-un/WWF-Thailand

เอกสารแนะนำโครงการ
ฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของบึงกุดทิง และบึงโขงหลง
ความหมาย ประเภท ประโยชน์ และคุณค่าความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ
สรุปข้อมลด้านเศรษฐกิจ สังคม และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
แผนยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง
แผนยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง
การประเมินอย่างมีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมง